Technology

อยากมีเว็บไซต์ต้องทำยังไงบ้าง ?

By Arnon Puitrakul - 08 เมษายน 2022

อยากมีเว็บไซต์ต้องทำยังไงบ้าง ?

ช่วงนี้มีหลาย ๆ คนถามเข้ามาเยอะมากว่า ถ้าเราอยากจะได้เว็บสักเว็บเราต้องทำอะไรยังไงบ้าง เอาจริง ๆ ตอนได้คำถามนี้แต่ละครั้ง เราก็ จุด ๆ ไปแว่บนึงทุกครั้ง ฮ่า ๆ เพราะจริง ๆ แล้วการจะสร้างเว็บขึ้นมาสักตัว มันต้องอาศัยหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน วันนี้เราเอามาสรุปให้อ่านกัน น่าจะทำให้พอเห็นภาพได้ว่า เราต้องใช้อะไรบ้าง

อยากเอาเว็บไปทำอะไร ?

ก่อนเราจะไปคุยกับคนที่เขาจะมาทำเว็บให้เรา เราจะต้องกำหนดก่อนว่า เราอยากได้เว็บมาทำอะไร เช่น เราต้องการนำมาเป็นเว็บแสดงข้อมูลสินค้า เพื่อสร้าง Awareness ให้กับ Brand ตัวเอง หรือ เอามาเป็นเว็บสำหรับแสดงข้อมูลบริษัทเป็นต้น

คำแนะนำของเราคือ พยายามทำให้จุดประสงค์ของเว็บค่อนข้างชัดเจน เพื่อช่วยให้คนที่มาทำเว็บให้เราสามารถออกแบบเว็บได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นจะช่วยได้มาก ลดอาการหัวร้อนของทั้งเรา และคนที่มาทำเว็บให้เราได้เป็นอย่างดีเลยเชียว

หรือจริง ๆ แล้วถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะทำออกมาแบบไหน หรืออธิบายยังไงให้เข้าใจได้ แนะนำให้ลองไปหา Reference จากเว็บอื่น ๆ มาก็ได้ อาจจะเป็นเว็บของคู่แข่งเรา ก็น่าจะทำให้เราได้เว็บไซต์ที่ใกล้เคียงกับที่เราต้องการอยู่พอตัว (ไม่งั้นจะเป็นคู่แข่งกันยังไง) แต่อาจจะมองหาเอาจุดเด่นของ Brand เรา หรือสิ่งที่เราต้องการทำใส่ลงไป เพื่อให้เว็บไซต์ของเราสามารถจดจำได้ง่าย

เว็บเราจะมีอะไรบ้าง ?

Website Sitemap

หลังจากที่เรากำหนดได้แล้วว่าเว็บเราจะเป็นอะไรบ้าง เราก็เอา Requirement ตรงนี้แหละ มาออกแบบเป็นโครงสร้างของเว็บและเนื้อหาได้เลย โดยอาจจะเริ่มจากโครงสร้างของเว็บก่อนว่า ในเว็บเราจะมีหน้าอะไรบ้าง จากหน้านี้จะไปหน้าไหนอะไรยังไงบ้าง โดยเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า Sitemap จริง ๆ แล้ว Goal ของการออกแบบนี้คือ ทำให้เราเข้าใจว่า เว็บมันควรจะมีอะไรบ้าง และ ในการที่จะเข้าถึงในแต่ละส่วนของข้อมูล มันจะต้องกดไปกี่หน้า นึกภาพว่าถ้าเป็นเราเอง เข้าเว็บนึงแล้วปรากฏว่า คลิกไปหลายหน้ามา แล้วยังหาข้อมูลไม่เจอ เราก็คงไม่ชอบสักเท่าไหร่ แนะนำให้ลองไปหาอ่านเรื่องของการวาง User Persona สำหรับ Website ของเรา และลองใช้ข้อมูลที่ได้มาออกแบบให้เข้ากับทุก ๆ Persona ดูน่าจะช่วยได้เยอะ

หลังจากเราได้ Sitemap แล้ว เราค่อย ๆ มาลงในรายละเอียดของแต่ละหน้าว่า ในแต่ละหน้า มันจะมีอะไรอยู่ในนั้นบาง ถ้าจะให้เขียน Content ในแต่ละหน้าเลย ก็อาจจะยากไป แนะนำให้ลองเป็นการเขียน Keyword ในแต่ละหน้าออกมาก่อนว่า เราอยากให้ในแต่ละหน้ามีอะไรใหญ่ ๆ บ้าง เช่นเราบอกว่า เราเป็นเว็บบริษัทที่ขายตู้เย็น ในหน้าของ Product เราอาจจะต้องมีหน้าย่อย ๆ เป็น ตู้เย็นในแต่ละรุ่น โดยที่ในหน้าของตู้เย็นแต่ละรุ่น อาจจะเป็นการบอกคุณสมบัติพิเศษของตู้เย็นก็ได้ เช่น 3-ประตู มีระบบแช่ผักที่ดีอะไรแบบนั้นก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี วิธีนี้ นอกจากจะช่วยให้เราคิด Content เพื่อใส่ลงไปในหน้าได้ง่ายขึ้นแล้ว มันยังทำให้ เราสามารถกำหนด Focus Keyword และออกแบบ Content ให้สอดคล้องกันได้อย่างง่าย นั่นทำให้เรื่องของ SEO (Search Engine Optimisation) ดีขึ้นเยอะ ไว้เดี๋ยวตอนหน้าเราค่อยมาคุยกันเรื่องนี้

และสุดท้าย เราก็ค่อยมาออกแบบ Content ทีละหน้าได้แล้วว่า เราอยากจะมีการนำเสนอข้อมูลที่เราต้องการออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งวิธีการนำเสนอ เราอาจจะลองหา Reference จากเว็บอื่น ๆ ดูได้ เราลองยกตัวอย่าง เว็บที่เรามองว่า นี่แหละนักขาย ป้ายกันชิบหายของจริงคือ Apple ถ้าเราลองเข้าไปในหน้าเว็บที่เป็น Product ของเขา เช่น Macbook Air เมื่อเราเลื่อนลงไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นเลยว่า เขาเอา Feature ของ Macbook Air มาวางลงไป และเล่าออกมาเป็นเรื่องราว ไล่ตั้งแต่อะไรที่มันว้าวมาก ๆ อย่างตอนนั้นก็ต้องเป็น M1 จนยาวไปล่างสุดก็เป็นเรื่องพวก WiFi 6 ที่มันไม่ได้ว้าวมาก เพราะว่า เวลาคนเราเลื่อนหน้าเว็บ เราก็จะเลื่อนจากบนลงล่าง ทำให้เราต้องเอาสิ่งที่มันน่าสนใจที่สุดไว้ด้านบนเพื่อดึงความสนใจนั่นเอง อันนี้เป็นเรื่องปกติของการ Design เลย

เว็บชื่ออะไร ?

Website Name

อันนี้แหละที่เวลาเราโดนถามแล้วจะ อึ้ง ๆ ไม่ใช่อะไรนะ ลำพังตัวเองยังคิดไม่ออกเลยจ้าาาา แต่เราพอจะบอกได้ว่าอันไหนที่ไม่น่าเอามาตั้งแน่ ๆ คือ พวกอันที่สะกดยาก ๆ และไม่ได้มีความสะกิตใจคนอ่านมาก ลองนึกภาพขำ ๆ ดูว่า สมมุติว่า เราตั้งชื่อเว็บว่า lsjflskjflejf.com คิดว่า เราจะพิมพ์เข้าเองมั้ยละ ฮ่า ๆ ใช่ม่ะ ดังนั้นชื่อเว็บ เรามองว่ามันน่าจะเป็นหนึ่งใน Presentation ที่สำคัญมาก ๆ ของเว็บ พยายามตั้งให้มันสัมพันธ์กับสิ่งที่เราจำ หรือ ถ้าเป็น Business ก็อาจจะตั้งเป็นชื่อของ Product หรือชื่อบริษัทเราเลยก็ได้ เพื่อความง่าย

ซึ่งในการที่เราจะใช้ชื่อเว็บเพื่อให้คนอื่นเข้าผ่านชื่อที่เราต้องการ เราจะต้องไปจดทะเบียน Domain Name ก่อน โดยที่การจดตรงนี้ จะมีค่าใช้จ่ายต่อปีอยู่ แล้วแต่ว่าเราจดกับผู้รับจดบริษัทไหน และเราจดยังไง

เอาง่าย ๆ เลย เราลองสังเกตเว็บที่เราเข้า ๆ กัน มันจะเป็นชื่อเว็บแล้วตามด้วยอะไรสักอย่างแล้วเป็น .com หรือ .in.th อันนี้ขึ้นกับความต้องการของเราเลยว่า เราจะจดเป็นลักษณะใด และแต่ละแบบมันก็จะมีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นบริษัททั่ว ๆ ไป เราแนะนำให้จดเป็น .com ไป ก็จะง่ายที่สุดละ และสามารถจดกับผู้รับจดที่ไหนก็ได้หมดเลย ต่างจากพวก .in.th ที่มันจะต้องใช้ผู้รับจดที่เป็นบริษัทไทยอะไรแบบนั้น ลองไปศึกษาเพิ่มดูได้

ดังนั้นของอย่างแรกที่เราจะต้องเสียเงินกับการทำเว็บแล้วคือ Domain Name หรือชื่อของเว็บเรานั่นเอง เสียค่าบริการเป็นปี ๆ ไป

Web Hosting

Fibre Connection

เกือบสุดท้าย เราจะต้องตัดสินใจด้วยว่า หลังจากที่เราได้เว็บมาแล้ว เราจะเอาเว็บของเราไปวางไว้ที่ไหนดี (Web Hosting) ซึ่งตัวเลือกมีเยอะมาก ๆ เริ่มตั้งแต่ถูก ๆ ไม่กี่ร้อย ยันกี่หมื่นเลยก็มีเหมือนกัน โดยที่แต่ละวิธีก็จะแตกต่างกันในเรื่องของความสามารถ และ ความจุนั่นเอง

โดยที่ถ้าเป็นเว็บเล็ก ๆ อาจจะเป็น Blog หรือเว็บบริษัทที่เน้นการแสดงข้อมูลเป็นหลัก อาจจะมีคนเข้าพร้อม ๆ กันมากสุด 500 กว่าคน เรามองว่า การไปสมัครบริการพวก Shared Hosting ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะทำให้เราสามารถเช่าพื้นที่การเก็บเว็บของเราได้ในราคาที่ถูกมาก ๆ หรือถ้าเว็บเราขยายขึ้นไปอีกหน่อย เราก็สามารถที่จะขอขยาย Package ที่เรามีขึ้นไปได้อีก เช่นใน Hostify เอง (ขายของให้เพื่อนหน่อย ฮ่า ๆ เห้ยของเขาดีจริง ๆ) ถ้าเราเข้าไปดูเขาก็มี Package ให้เราเลือกตามความต้องการที่เราต้องการได้เลย ถ้าเลือกไม่ถูกว่าเราเหมาะกับ Package หรือบริหารไหน ก็ลองติดต่อสอบถามได้ เราจะได้มั่นใจว่า เราจะได้จ่ายเงินแล้วได้สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดกลับมานั่นเอง

หรือถ้าเว็บของเรามีข้อจำกัดบางอย่างที่ Shared Hosting อาจจะใช้ไม่ได้ หรือ อาจจะมีจำนวนคนเข้าที่เยอะขึ้น อาจจะพิจารณาไปเช่าพวก VPS (Virtual Private Server) หรืออาจจะเช่าเป็น Dedicated Machine ไปเลยก็ได้เช่นกัน อันนี้แล้วแต่งบประมาณ และความต้องการของเราได้เลย

https://cloud.google.com/products/calculator

อีกตัวเลือกนึงคือการเช่า Resource จากพวก Cloud Platform ต่าง ๆ อย่าง Google Cloud Platform (GCP) ได้ แต่อันนี้เราแนะนำว่ามันจะเหมาะกับกลุ่มเว็บที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ มากจริง ๆ คนดูหลายหมื่น เฉียดแสนพร้อม ๆ กัน หรือมีลูกค้าที่เขาได้จากหลายประเทศ เช่น กลุ่มลูกค้าของเราอยู่ในทั้งไทย และ USA เราก็ต้องการ Server ในทั้ง 2 ที่ ซึ่งพวก Cloud Computing Platform เจ้าใหญ่ ๆ เขามักจะมี Data Centre กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำให้เรามั่นใจได้ว่า เว็บของเราจะสามารถทำงานกับลูกค้าจากหลาย ๆ ประเทศได้อย่างรวดเร็วทันใจแน่นอน

เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ?

มาถึงคำถามที่น่าสนใจแล้วว่า ถ้าเราอยากจะได้เว็บสักเว็บ เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เราขอแยกออกมาเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ที่เราต้องจ่ายแน่ ๆ ก่อน นั่นคือ Web Hosting และ Domain Name

ตัว Web Hosting ก็ขึ้นกับว่า เราเลือกเจ้าไหนอะไรยังไงเลย เริ่มต้นที่เราเห็นแล้วใช้งานได้จริง ๆ เลยก็ปีละ 500 กว่าบาทนี่แหละ ก็ตกเดือนละ 41 บาทเอง หรือถ้าอยากได้เป็น Cloud เลย ที่ ๆ ถูกที่สุดที่เรานึกออกตอนนี้คือ Digital Ocean ต่ำสุดเดือนละ 5 USD ก็ประมาณ 167  บาทกว่า ๆ อาจจะแพงหน่อย แต่ก็ดีที่มันเป็น IaaS นั่นหมายความว่าเราจะลงอะไรลงไปในเครื่องนั้นก็ได้หมดเลย เหมือนกับเราเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์สักเครื่องมาใช้งานเลย

ในส่วนของ Domain Name แต่ละแบบก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน แต่ละเจ้าก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันอีก บางที่เราก็จะเจอกับ Promotion ปีแรกเท่านั้นเท่านี้ แล้วปีต่อไปแมร่งขายเราแพงชิบหายเลยก็มี ดังนั้นลองดูดี ๆ ถ้าเป็น .com ก็อาจจะโดนปีละ 380-400 บาทได้ หรือถ้าเป็น .in.th ที่เราเสียอยู่ของ P&T Hosting ก็จะโดนที่ 342 บาท (ณ วันที่เขียน)

ทำให้สุทธิ ถ้าเราใช้งาน Shared Hosting ในไทย และ เราจด .in.th ขั้นต่ำ ๆ เลย เราก็จะต้องเสียเงินอยู่ปีละ 500 + 342 หรือ 842 บาทต่อปีเป็นขั้นต่ำแล้ว เว้นแต่เราจะไปหาพวก Web Hosting ฟรี ๆ มาใช้งานนั่นก็อีกเรื่องแต่พวกนั้นมันก็ไม่ค่อยการันตีพวก SLA เท่าไหร่ ไม่เหมาะกับการเอามาใช้งานในงานจริง ๆ

ปล. ราคานี้เรายังไม่นับเรื่องของการเขียนเว็บอีกนะ ถ้าใครที่เขียนเองได้ก็ตัดเรื่องนี้ทิ้งไปเลย แต่ถ้าใครเขียนไม่ได้ก็จะมีค่าจ้างอีกเนอะ ก็ลองไปหากันดู แล้วแต่ประสบการณ์ และ คุณภาพงานของแต่ละคนเลยอันนี้ตอบยาก

สรุป:  อยากได้เว็บสักเว็บไม่ใช่เรื่องยาก แค่เยอะ

การสร้างเว็บสักเว็บ ต้องยอมรับว่า มันง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก ๆ มีระบบสำเร็จรูปให้เราใช้มากมายเต็มไปหมด หรือ Programmer รอเขียนให้เราได้เพียบ แต่เพราะมันมีตัวเลือกเยอะนี่แหละที่ทำให้เราคิดว่า มันเลยกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งขั้นตอนที่เราเล่ามา ถ้า 3 เรื่องแรก เราสรุปคร่าว ได้แล้ว ลองไปหาคนมาทำได้เลย เราคิดว่า ถ้าเล่า 3 เรื่องแรกให้เขาฟัง เขาน่าจะเข้าใจบ้างแหละ ว่าเราต้องการอะไร แล้วพอเว็บเสร็จค่อยมาคุยเรื่องที่ว่าเราจะเอาเว็บไปวางไหนดี ถ้าเรามีในใจแล้วก็ลองคุยกับเขาได้ สิ่งสำคัญคือ อย่า Blank ไปคุย เพราะสุดท้ายทั้งเราและเขาที่เป็นคนทำเว็บให้เรา ก็จะเสียเวลา และ หัวร้อนกันฟรี ๆ โดยที่ไม่ได้อะไรเลย พยายามเก็บข้อมูลความต้องการ (Requirement) ที่เราพอจะหาได้ไปคุยด้วย ก็จะทำให้เราและคนที่ทำเว็บให้เราสามารถร่วมงานกันได้อย่างสงบสุข เราก็ได้เว็บตามที่เราต้องการอีกด้วย

Read Next...

ยืดเวลาการใช้งานแบต Macbook ด้วย 3 ทริกง่าย ๆ

ยืดเวลาการใช้งานแบต Macbook ด้วย 3 ทริกง่าย ๆ

เวลาเราเอา Macbook ออกไปใช้งานนอกบ้าน บางครั้ง เราสามารถเสียบปลั๊กไฟได้ แต่งานก็ต้องทำ ก็คือทำงานแข่งกับเวลาเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาบอกทริกการยืดเวลาการใช้งานบน Battery กันจาก 3 ทริกง่าย ๆ กัน...

Bittorrent คืออะไร ทำงานอย่างไร?

Bittorrent คืออะไร ทำงานอย่างไร?

การดาวน์โหลดไฟล์ผ่าน Internet เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปสำหรับการใช้งานในปัจจุบันกันแล้ว ตั้งแต่การโหลดไฟล์เอกสารต่าง ๆ จนไปถึงการ Stream เพลง และหนังต่าง ๆ แต่วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโลกอีกใบ อีกวิธีการของการแชร์ไฟล์บนโลก Internet กันนั่นคือ Bittorrent...

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

หลายวันก่อนไปซื้อชานมมา จ่ายเงินด้วย QR Code ปรากฏว่า จ่ายไม่ได้ แต่เครื่อง EDC บอกว่า จ่ายผ่านเฉยทำให้คิดถึงปัญหานึงที่น่าสนใจคือ Two Generals' Problem วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และเกี่ยวอะไรกับการโอนเงิน...

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

เรื่องของเรื่องคือ เราทดลองเล่นเพลงผ่าน AirPlay 2 เข้ากับลำโพงแล้วเสียงมันแปลก ๆเลยไปหาข้อมูลมา เลยทำให้โป๊ะว่า อ้าว.... ชิบหาย Hi-Res ทิพย์นี่หว่า ทำไม เราไปดูเหตุผลในบทความนี้กัน...