Technology

ไขปริศนาความ Lossless จาก Apple Music ไหนจะ ALAC, Apple Digital Master อะไร งง ไปหมด

By Arnon Puitrakul - 28 มิถุนายน 2021

ไขปริศนาความ Lossless จาก Apple Music ไหนจะ ALAC, Apple Digital Master อะไร งง ไปหมด

เมื่อไม่นานมานี้ Apple Music ได้ออก Feature ที่ทำให้เราสามารถ Stream ไฟล์เสียงแบบ Lossless ได้แล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ แต่มันก็มากับความ งง ไปหมด ไหนจะไฟล์เสียงแบบ ALAC บ้างก็มาแบบ Apple Digital Master และไหนจะเรื่องของ Spatial Audio อีกที่ ทำให้ งง ไปหมดว่า หนูลูกกก หนูจะมากี่สัญลักษณ์ใน App จ๊ะ งง ไปหมดแล้วจ้าา วันนี้เรามาทำความเข้าใจว่าแต่ละอันคืออะไรกันแน่ กับเราจะมาเล่าความคิดเราว่าทำไมการเดินเกมแบบนี้ของ Apple มันทำให้ Apple Music น่าสนใจมาก ๆ

Apple Music ไม่ใช่เจ้าแรกที่ Stream Lossless แต่เขย่าตลาดสุด

ก่อนเราจะไปถึงไหนต่อไหน เราต้องบอกก่อนนะว่า การ Stream เพลงแบบ Lossless ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ถ้าเรามองก่อนหน้านี้ ผู้มาก่อนกาลในไทยจริง ๆ นานมาก ๆ แล้วอันแรกที่เราใช้เลยคือ Joox แล้วเราค่อยมาใช้ Tidal

พูดกันตรง ๆ เลยคือ เราว่าคนที่จะมาสนใจ Lossless จริง ๆ จะไม่ใช่คนทั่วไปอะไรเลย หลาย ๆ คน ก็ชอบบอกเราว่า มันฟังไม่ออกเลยอะไรแบบนั้น ทำให้คนที่สนใจจริง ๆ มักจะเป็นคนที่ฟังไฟล์เสียงพวกนี้อยู่แล้ว และต้องการไฟล์ที่ดีที่สุด เผลอ ๆ บางคนอาจจะมาจากพวกการไปซื้อ Hi-Res File เลยด้วยซ้ำ ประกอบกับ Tidal ก็หยิบเอาไฟล์ที่คุณภาพโคตรสูงมาก ๆ อย่าง MQA (Master Quality Authenticated) ที่ต้องยอมรับเลยว่าคุณภาพมันบ้ามาก ๆ และถ้าเรามี MQA Compatible DAC อีกก็คือไปให้สุด หยุดที่หมดตัวได้เลย มันดีมากจริง ๆ

Tidal

ด้วยสาเหตุนั้นเอง ทำให้ Tidal กลายเป็น Music Streaming Service ในดวงใจเราในแง่ของคุณภาพ File เพลงเลยก็ว่าได้ แต่ตอนนี้เราใช้หมดทุกตัวจริง ๆ ตั้งแต่ Spotify ใช้เพราะเราชอบระบบ Recommendation, Tidal คุณภาพไฟล์, Youtube Music ติดมากับ Youtube Premium แต่ทำให้เราฟังเพลงที่ Exclusive ได้หมดเลย และ Apple Music ติดมากับ Apple One แต่ก็ให้ความ Deep Integration เข้ากับ Apple Ecosystem และมีเพลงเยอะพอตัว แต่พอมาคิดดี ๆ นะ เราจะเห็นได้ว่า Music Streaming แต่ละเจ้า เขาจะมีข้อดีข้อเสียของตัวเองอยู่ ทำให้ถ้าเราอยากได้ความ Perfect ในทุกสถานการณ์ทำให้เราต้องสมัครมันหมดเลย หมดตัวพอดี

แต่อยู่ดี ๆ ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างออกมาว่า Apple จะเปิดการ Stream แบบ Lossless ออกมา เราก็คือ ห๊าาาาา เพราะตอนนั้นเราติด MQA มาก ทำให้เราค่อนข้าง Bias ไปในทางของ Tidal มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเลย พอมาคิดดี ๆ นะ มันคือการ Break Service ที่เราใช้งานได้เลยนะ เพราะจริง ๆ ต้องยอมรับว่า Apple Music มีเพลงไม่น้อยเลยด้วยซ้ำ แถม เราอยู่ใน Apple Ecosystem อย่างเหนียวแน่น ซึ่งมันเกือบจะกินเราให้ออกจาก Spotify ได้แล้วนะ ไหนจะเรื่อง Lossless ที่คุณภาพไม่เท่า MQA บน Tidal แน่ แต่คุณภาพที่ Apple Music เอามาให้เรา มันก็ดีพอตัวเลยนะ

สุดท้าย มันเลยกลายมาเป็นเหมือนเดิมเลย เหมือนกับ AirPods Pro ที่คุณภาพเสียงงั้น ๆ หน้าตางั้น ๆ ทุกอย่างงั้น ๆ หมด สุดท้าย เราก็จะเลือกมันเป็นตัวเลือกแรกได้อย่างไม่ยาก เพราะจริง ๆ คนเราอยากได้ทุกอย่าง อย่างละนิดอย่างละหน่อยก็ดีกว่า เอาดีสักด้านแล้วอีกด้านคือเสีย หรือไม่มีเลย Apple Music ก็เหมือนกัน จำนวนเพลงมีกลาง ๆ คุณภาพ Lossless ไม่ได้ดีที่สุดในตลาด ระบบ Recommend เฉย ๆ มันเลยกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ ที่เราจะยกเลิกทุกบริการ Music Streaming และหันมาใช้แค่ Apple Music อันเดียว พอหัก ๆ กลบ ๆ ข้อเสียไป แต่พอมาคิดอีกทีคือ เราสามารถ Save เงินต่อเดือนไปได้เยอะมาก ๆ เลยนะแต่เราว่ามันก็คุ้มอยู่ ทำให้เรามองว่า การที่ Apple ทำแบบนี้มันคือการเขย่าตลาดสุด ๆ กินไปได้หลาย Customer Segment เลย เดินเกมดุดันจริงอะไรจริง

เราจะรู้ได้ยังไงว่า Stream มาตรฐานตัวไหนอยู่ ?

ใน Apple Music มีเพลงจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกเพลงที่จะ Stream เป็นไฟล์แบบ Lossless ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ เบื้องต้น ถ้าเราอยู่ในหน้าของอัลบั้ม ใต้รายละเอียดมันจะมีสัญลักษณ์ขึ้นมาอยู่ ตัวอย่างเช่น อัลบั้ม After Hours ของ The Weeknd ลองมองหาสัญลักษณ์ที่เป็น Lossless ก็น่าจะเป็นอันที่ง่ายและตรงที่สุดแล้ว ถ้าเราอยากรู้รายละเอียดของแต่ละสัญลักษณ์เราสามารถแตะที่สัญลักษณ์ได้เลย

ทำไมลองเล่นแล้วไม่มี Lossless ขึ้นเลย ?

ถ้าเกิด เราเล่นเพลงที่เรามั่นใจว่าเป็น Lossless แล้ว มันไม่มีสัญลักษณ์ขึ้น อาจจะต้องเข้าไปเช็คการตั้งค่าในเครื่องของเราก่อน โดยการเข้าไปที่ Settings > Music > Audio Quality แล้วเปิด Lossless Audio

โดยที่เรายังสามารถเลือกคุณภาพเสียงเมื่อเรา Stream จาก Network ต่าง ๆ เช่น Stream ผ่าน Cellular สำหรับคนที่อาจจะไม่ได้ใช้ Package Unlimied Data อาจจะต้องพิจารณาในการปรับคุณภาพของเพลงลงหน่อย จะได้เปลืองเน็ตเราน้อยลงนั่นเอง หรือใน WiFi บ้าน ก็จัดเต็มได้เลยก็ได้เหมือนกัน

มาตรฐานที่ต่างกัน

ไฟล์เพลง Lossy และ Lossless คืออะไร ทำไมมันต้องแยกกันให้วุ่นวาย
Apple ประกาศออกการรองรับ การ Stream แบบ Hi-Res และ Lossless บน Apple Music วันนี้เรามาลองดูว่า จริง ๆ แล้วมันคืออะไร และ เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

ก่อนอื่นเลย ถ้าใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องของ Lossy และ Lossless และพวกค่าต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังของเสียง เราแนะนำให้ไปอ่านบทความที่เราเคยเขียนไว้ด้านบนนี้ได้เลย จะช่วยปูพื้นฐานของระบบเสียงแบบ Digital ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจแต่ละมาตรฐานกัน

หลัก ๆ ที่เราจะได้เจอ น่าจะมี Lossless, Apple Digital Master และ Dolby Atmos เราลองมาดูกันทีละตัวดีกว่าว่าอันไหนคืออะไร

Apple Digital Master

เริ่มจาก Apple Digital Master กันก่อน ถ้าเราแตะที่โลโก้ของมัน มันจะบอกว่า ความละเอียดของไฟล์มันจะเริ่มจาก 24-bits ขึ้นไป และตัวไฟล์จะ Optimise สำหรับการเล่นบนอุปกรณ์ของ Apple ซึ่งจะเห็นว่า ไม่มีตรงไหนบอกว่าเป็น Lossless เลย ใช่แล้ว เพราะตัว Apple Digital Master ไม่ได้บอกว่า มันเป็น Lossless หรือ Lossy เพียงแค่บอกว่า มี Bit Depth เท่ากับ 24-bits หรือมากกว่านั้น และ Master โดยใช้ Software จาก Apple เอง ทำให้มันเหมาะกับการนำมาเล่นบน Apple Devices มากที่สุด

Dolby Atmos & Spatial Audio

อันต่อไปคือ Dolby Atmos ถ้าใครที่ชอบดูหนังอยู่แล้วน่าจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วมันคืออันเดียวกันเลย สำหรับใครที่ไม่เคยได้ยินสั้น ๆ คือ เป็นระบบเสียงแบบ Object-Based ที่เสียงมันจะอยู่ในทุก ๆ ทิศทางเลย ต่างจากระบบเสียงแบบเดิม เช่น 5.1 หรือ 7.1 ที่ตำแหน่งของมันจะฟิคตายตัว เช่น หน้า หลัง แต่ใน Dolby Atmos เสียงที่เราได้รับจะมาเป็น 360 องศาเลย แม้กระทั่งด้านบนด้วยเช่นกัน แต่การที่เราจะได้รับฟังเสียงแบบ Dolby Atmos อย่างสมบูรณ์แบบ เราจะต้องใช้เครื่องเสียงที่รองรับ Dolby Atmos ด้วยเช่นกัน ซึ่งใน Apple Music มันจะมีอุปกรณ์ที่รองรับอยู่ ที่เราสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Apple

Source: Apple

พอพูดถึง Dolby Atmos หลาย ๆ คนอาจจะถามว่า แล้วมันคืออย่างเดียวกับ Spatial Audio รึเปล่า จริง ๆ ต้องบอกว่า ไม่ใช่ เพราะ Spatial Audio เป็นวิธีของ Apple ในการจำลองเสียงรอบทิศทางระบบต่าง ๆ อย่าง 5.1, 7.1 และ Dolby Atmos ประกอบกับ ข้อมูลจาก Sensor ต่าง ๆ เช่น Gyroscope และ Accelerometer มาเพื่อฟิคตำแหน่งของเรากับฉาก ทำให้เมื่อเราหันหัว ซ้ายและขวา หรือเงยก้มหน้า ทิศทางของเสียงมันก็จะเปลี่ยนไป เทคโนโลยีตัวนี้ ตอนที่เปิดมาให้กับ Apple TV เมื่อปีก่อนคือว้าวมาก ๆ จริง ๆ ดูแล้วสมจริงขึ้นเยอะ เหมือนเราไปอยู่ตรงนั้นจริง ๆ ดังนั้น Spatial Audio เป็นแค่วิธีในการแปลงเสียงรอบทิศทางต่าง ๆ ประกอบกับข้อมูลจาก Sensor เพื่อล๊อคตำแหน่งของเรากับเสียงนั่นเอง โดยจะใช้เสียงเป็น Dolby Atmos, 5.1 หรือ 7.1 ก็ได้หมดถ้าสดชื่น แต่ในส่วนของ Apple Music เพลงทั้งหมดที่เป็น Spatial Audio จะเป็นไฟล์เสียงที่มาจาก Dolby Atmos ทั้งหมด

แต่ ๆ การที่เป็น Dolby Atmos ก็ไม่ได้เป็นการบอกนะว่า มันเป็น Lossless หรือ Lossy เช่นเดียวกับ Apple Digital Master นะ แค่บอกว่า เพลงนี้รองรับเสียงแบบรอบทิศทางเฉย ๆ เท่านั้น

บอกก่อนนะว่า Dolby Atmos กับการฟังเพลงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยนะ ผู้ให้บริการ Music Streaming อย่าง Tidal ก็ให้บริการไฟล์เสียงที่เป็นแบบ Dolby Atmos มานานมาก ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรขนาดนั้น แต่ที่มันน่าสนใจเพราะเมื่อเรารวมกับความว้าวของ Spatial Audio ทำให้มันน่าสนใจมากเข้าไปอีก

Lossless Audio

มาถึงตัว Highlight กันคือ Lossless Audio ก็คือไฟล์เสียงที่ผ่านการบีบอัดโดยที่ไม่เสียคุณภาพของเสียงนั่นเอง ซึ่งใน Apple Music บอกว่า จะเป็นไฟล์ในรูปแบบ Apple Lossless Audio (ALAC) โดยคุณภาพของไฟล์จะเริ่มตั้งแต่ระดับ CD Quality คือ 16 Bits / 44.1 kHz จนไปถึงคุณภาพเสียงระดับ 24 Bits / 48 kHz เลยทีเดียวสำหรับบน Apple Device และคุณภาพระดับ 24 Bits / 192 kHz สำหรับ Audiophile จริงจังเลย ซึ่งบอกเลยว่าขนาดไฟล์คืออลังการงานสร้างมาก ๆ

ถ้าเราลองกดเข้าไปฟังหลาย ๆ เพลงที่เป็น Lossless ใน Apple Music ถึงจะขึ้นว่า Lossless เหมือนกัน แต่คุณภาพมันจะไม่เท่ากันด้วยนะ ตัวอย่างเช่น เพลง แตกต่างเหมือนกัน ของ Getsunova เมื่อเรากดดู มันจะบอกว่ามัน Stream ที่ 16 Bits / 44.1 kHz เท่านั้น แต่ถ้าเราลองดูเพลงใหม่ ๆ หน่อย อย่าง แพ้ทุกที ของ Fellow Fellow มันจะกลายเป็น 24 Bits / 48 kHz ไป ซึ่งแน่นอนว่าตัว 24 Bits มันบังคับเพราะเพลงแพ้ทุกทีมันเป็น Apple Digital Master ซึ่ง มันจะให้เมื่อไฟล์เสียงมี Bit Depth มากกว่าหรือเท่ากับ 24 Bits

หรือถ้าเราเจอเพลงที่เปรี้ยว ๆ หน่อย เพลงในตำนานอย่าง Hotel California มาสมตำนานจริง ๆ เพราะนางมาในระดับสุดปังคือ Hi-Res Lossless ลองกดดูก็คือ 24 Bits / 192 kHz สุดของที่ Hi-Res Lossless จะ Stream ให้เราได้เลยเต็มเหนี่ยวมาก ๆ

ไม่ใช่ทุกอุปกรณ์จะฟังได้เต็มเหนี่ยว

ต้องบอกเลยว่า ไม่ใช่ทุกอุปกรณ์ฟังเพลงจะสามารถรับไฟล์เสียงความละเอียดแบบนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวก ที่ใช้ Bluetooth ทั้งหลาย อย่าง AirPods ทั้งหลาย ๆ เนี่ย แตกหมด เพราะ Codec ที่มันรองรับสูงสุดแค่ AAC เท่านั้น ซึ่งมันรองรับ Bandwidth ที่ต่ำกว่านี้มาก ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมีไฟล์ความละเอียดเท่าไหร่ เครื่องก็จะ Downsampling ให้เหลือเท่าที่ส่งได้ นอกจากนั้น Apple ยังบอกอีกว่า AirPods Max ที่สามารถเสียบสายได้ ถึงจะเสียบสาย ก็จะไม่สามารถฟังแบบ Hi-Res ได้ ตรงนี้ เราว่าน่าจะเป็นเพราะ Codec ที่ตัวหูฟังรองรับเลย มันไม่น่าจะรองรับ ALAC ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อาจจะต้องรอหน่อย ให้ Apple ออกหูฟังที่รองรับ ALAC ออกมา น่าจะทำให้เราได้คุณภาพเสียงที่แจ่มแมวเข้าไปอีก แต่ในส่วนของพวก Apple TV และ HomePods ก็จะได้รับ Update เพื่อเล่นไฟล์เสียงความละเอียดสูงทีหลังต่อไป

ส่วนถ้าเราใช้สาย เราทดลองใช้ Zorloo Zella มันจะมี Indicator บอกคุณภาพของไฟล์อยู่ ถ้า Sampling Rate มากกว่า 48 kHz มันจะเป็นไฟสีแดง แต่ถ้าต่ำกว่านั้นจะเป็นสีน้ำเงิน และเมื่อ MQA Renderer ทำงานจะเป็นสีม่วง (แต่ MQA ไม่มีใน Apple Music เด้อออ) ทำให้ถ้าเราเล่นเพลงที่เป็น Lossless ธรรมดา ยังไง ๆ ก็จะขึ้นแค่ไฟสีฟ้า เพราะ Sampling Rate มันเกิน 48 kHz อยู่แล้ว ส่วนถ้าเป็น Hi-Res Lossless อันนี้จะขึ้นเป็นไฟสีแดงแน่นอน

ดังนั้น ถ้าอยากจะได้ประสบการณ์เต็ม ๆ ในทุก ๆ ด้านคือทั้ง Spatial Audio และ Hi-Res Lossless เลย จะยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับทั้งหมดจริงจัง ถ้าอยากได้ Spatial Audio ก็ต้องไปเล่นพวก AirPods Pro หรือ AirPods Max ซึ่งพวกนี้ ก็จะ Stream ได้แค่ AAC เท่านั้น (เศร้าชิบหาย) แต่ถ้าอยากได้คุณภาพสูง Hi-Res ก็ต้องไปต่อ DAC ออกเอา เลยทำให้ ณ วันที่เขียนเราต้องเลือกแล้วละ จนกว่า Apple จะออกหูฟังที่รองรับทั้ง Spatial Audio และ Hi-Res ออกมา

สรุป

สุดท้ายแล้วจริง ๆ ถ้าเรามามองดี ๆ Apple Music มันมาเหมือนกับพวก AirPods ไม่มีผิด ที่คุณภาพเสียงเข้าขั้นแย่ (เทียบกับราคา) มีตัวเลือกอื่นที่เสียงดีกว่า แต่ก็ไม่มีตัวไหนที่ Integration เข้ากับ Apple Ecosystem ได้ลึกเท่ากับ AirPods แน่นอน คนทั่ว ๆ ไป ที่เป็นตลาดใหญ่ มีหรือที่จะคิดถึง AirPods เป็นตัวเลือกแรก ๆ ในการหาซื้อหูฟัง Wireless

มองย้อนกลับมาที่ Apple Music ต้องยอมรับว่า การทำ Recommendation และจำนวนเพลงสู้ Spotify ไม่ได้ คุณภาพไฟล์เสียงก็สู้ Tidal ไม่ได้ กินเรื่อง Deep Integration ไปจนทำให้ไม่อยู่ในสายตาเราเลย จนตอนนี้ออกไฟล์ที่เป็น Lossless ออกมา ถึงจะสู้ MQA บน Tidal ไม่ได้ แต่ Lossless Hi-Res ก็ถือว่าดุดัน คุณภาพใช้ได้แล้ว เมื่อเอาข้อดีข้อเสียมารวม ๆ กัน Apple Music ไม่ได้ดีที่สุดในด้านใดเลย ในตลาดของผู้ให้บริการ Music Streaming แต่เป็นเจ้าที่ Balance ทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทำให้เรื่องจำนวนเพลง คุณภาพไฟล์ และ Integration มันจบได้ในบริการเดียว โดยที่เรายอมตัดด้านละนิดด้านละหน่อย (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Jack of all trades) ซึ่งแน่นอนว่า คนจะเหลือเหรอ กดดิ เหมือนกับ AirPods จะเหลืออะไร ทำให้การเดินเกมของ Apple ช่วงหลัง ๆ นี้ถือว่าโหดมาก ๆ น่ากลัวสุด

ปล. บอกเลยว่า ตอนนี้แทบจะยุบบ้าน Spotify และ Tidal แล้ว ไว้จะมารีวิวว่าถ้าเราเปลี่ยนไปใช้ Apple Music สักวันจะเป็นยังไง

Read Next...

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

ปัญหาการโอนเงินไม่ผ่านแต่ผ่านกับ Two Generals' Problem

หลายวันก่อนไปซื้อชานมมา จ่ายเงินด้วย QR Code ปรากฏว่า จ่ายไม่ได้ แต่เครื่อง EDC บอกว่า จ่ายผ่านเฉยทำให้คิดถึงปัญหานึงที่น่าสนใจคือ Two Generals' Problem วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันคืออะไร และเกี่ยวอะไรกับการโอนเงิน...

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

Stream Apple Music อย่างไรให้ได้คุณภาพสูงสุด

เรื่องของเรื่องคือ เราทดลองเล่นเพลงผ่าน AirPlay 2 เข้ากับลำโพงแล้วเสียงมันแปลก ๆเลยไปหาข้อมูลมา เลยทำให้โป๊ะว่า อ้าว.... ชิบหาย Hi-Res ทิพย์นี่หว่า ทำไม เราไปดูเหตุผลในบทความนี้กัน...

ซิงค์ลม vs ชุดน้ำ แบบไหนเหมาะกับใคร

ซิงค์ลม vs ชุดน้ำ แบบไหนเหมาะกับใคร

เมื่อไม่กี่วันมานี้เราเอาเครื่องไปเปลี่ยน CPU มา เป็นตัวที่ดุเดือดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า เอ๋ เราควรจะใช้เป็นชุดน้ำไม่ว่าจะเปิดหรือปิด หรือจะเป็นซิงค์ลมแบบที่เราใช้งานกันมานาน หลังจากไปหาข้อมูลต่าง ๆ วันนี้เรามาเล่าให้อ่านกันว่า แต่ละอันมันจะเหมาะ หรือไม่เหมาะกับใคร...

Calibrate หน้าจอไปทำไมและทำอย่างไร

Calibrate หน้าจอไปทำไมและทำอย่างไร

เรื่องของเรื่องคือ เราซื้อจอ Dell Ultrasharp 32 นิ้วมาใหม่ และมักนำมาใช้ทำงานพวก Colour Grading และ แต่งรูป ด้วย เรื่องสีเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ไปนั่งคุยกับเพื่อนก็คือ เพื่อนมาทำเลยให้ค่าาา วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า ทำไม เราจำเป็นต้องทำ Display Calibration และ หลักการเบื้องหลังคืออะไร...