Tutorial

Machine Learning The Series 🤖

By Arnon Puitrakul - 12 มีนาคม 2018

Machine Learning The Series 🤖

ในครั้งแรก ๆ ที่ผมได้ลองมาทำพวก Machine Learning ตอนนั้นผมก็ไม่รู้จะเริ่มยังไงเหมือนกันนะ ไหนอะไรจะ Classifier ไหนจะ Algorithm ไหนจะ Precision, Recall และ F1-Score อะไรอีกมากมายเต็มไปหมด วันนี้จะพามาดูกันว่า ถ้าเราจะสร้าง Machine Learning Model กัน เราจะต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

The Machine Learning Process
The Machine Learning Process

ในการทำ ผมขอแบ่งขั้นตอนในการทำออกเป็น 5 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ตามภาพด้านบนเลย ทีนี้เราจะมาดูกันว่า ในแต่ละขั้นตอนเราต้องดูและทำอะไรบ้าง

1. Data Acquisition

ในขั้นตอนแรก จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก นั่นคือการเก็บข้อมูลนี่เอง บางเคส เราสามารถหา Data มาได้อย่างง่ายดาย แต่ในบางเคส เช่นเคสทางการแพทย์ต่าง ๆ การได้มาซึ่งข้อมูลก็อาจจะเป็นเรื่องที่ลำบากสักหน่อย

Scientific Learning
Scientific Learning

คอมพิวเตอร์มันก็เหมือนคนตรงเรื่องนึงคือ มันก็เรียนรู้จากตัวอย่างนี่แหละ ตามภาพด้านบน เราจะเห็นว่า เราเริ่มจากการที่เราเห็นข้อมูลบางอย่าง แล้วเราก็ตั้งสมมุติฐานบางอย่างขึ้นมา และสุดท้าย เราก็พิสูจน์ว่า สมมุติฐานที่เราคิดมามันถูกมั้ย ถ้าไม่เราก็จะกลับไปดูใหม่ว่ามันเป็นยังไง กับอีกเคสคือในอนาคตเราอาจจะเห็นของที่เราเคยรู้จักแหละ แต่มันอาจจะมีความไม่เหมือนกันบ้าง เราก็จะเอาของที่เราเห็นใหม่ ๆ มาแล้วมาเปลี่ยนสมมุติฐานในหัวเราแล้วก็พิสูจน์ มันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

Laptop Styled Comparison
Traditional Laptop vs 2-in-1 Laptop

อาจจะยังมองไม่เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างกันง่าย ๆ คือ Laptop ดีกว่า เมื่อสัก 4-5 ปีก่อน เราอาจจะมองว่า Laptop คือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แบกไปไหนมาไหนได้ มีลักษณะเป็นฝาพับได้กว้างสุด 70 องศา ข้างบนเป็นจอ ข้างล่างเป็น Keyboard กับมี Trackpad ปุ่มเปิดปิดอยู่มุมขวาของเครื่อง

แต่พอเวลาเปลี่ยนไปหน้าตาของมันเปลี่ยนไปสักหน่อย มันอาจจะกางออกมาได้ 180 องศานาบไปกับพื้นได้เลย หรือปุ่มเปิดปิดที่มันจะอยู่ข้าง ๆ เครื่องก็ว่ากันไป พอเราได้เห็นเครื่องเก่า ๆ มาก่อนแล้วมาเห็นเครื่องใหม่ ๆ เราก็น่าจะ งง ๆ กันบ้างแหละ นั่นเพราะว่า เราเคยสมมุติฐานว่า Laptop ปุ่มเปิดมันน่าจะอยู่ตรงมุมขวา แต่ตอนนี้มันอยู่ไหนกันนะ

พอเรารู้ว่า ปุ่มเปิดมันอยู่ตรงข้างเครื่อง เราก็จะอัพเดทและจำสมมุติฐานใหม่ในหัวเราว่า มันก็มี Laptop ที่ปุ่มเปิดอยู่ข้าง ๆ เหมือนกันนะ พอมาครั้งหน้า เราเจอ Laptop ที่ปุ่มเปิดมันอยู่ข้าง ๆ เราก็จะรู้ว่า เราควรมองหาตรงข้างเครื่องด้วย แทนที่จะหาบนมุมขวาของเครื่องอย่างเดียว

คอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน มันก็เรียนรู้จากตัวอย่างเหมือนกับเรานี่แหละ ฉะนั้นข้อมูลที่เราจะเอามาใช้สอนมันก็ต้องแน่ใจว่า เราให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และครอบคลุมกับสิ่งที่เราต้องการให้มันเรียนรู้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ไม่ต้องคิดเลยว่า ถ้าเราเอาข้อมูลผิด ๆ ให้มัน มันก็จะเรียนรู้แบบผิด ๆ เหมือนกับเด็กเลยละ

2. Data Preprocessing

ในโลกแห่งความเป็นจริง หลังจากที่เราได้ Data มาแล้ว แน่นอนว่าบางครั้งข้อมูลที่หามา อาจจะไม่ได้มีคุณภาพสูง หรือขาดหายอะไรบางอย่างไป เราก็ต้องมาจัดการมันกัน อย่างที่เราบอกไปในหัวข้อเมื่อครู่ว่า ถ้าเราเอาข้อมูลผิด ๆ หรือยากมาก ๆ ให้เครื่องเรียนผลที่ได้มันก็จะไม่ดีนัก ฉะนั้นเรื่องของการทำ Data Preprocessing ก็เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญมาก

Data บาง Record ที่เราได้มาอาจจะมีบาง Field หรือช่องที่ขาดหายไป หรือมีแค่ข้อมูลที่ผ่านการ Aggregate แล้ว เราจะเรียกข้อมูลแบบนี้ว่า Incomplete Data

หรือบางข้อมูลมีความแปลกมาก ๆ เช่น เราเจอว่ามีช่องเงินเดือนเป็น -5 ซึ่งมันก็ไม่น่าใช่ถูกม่ะ ถ้าเราปล่อยข้อมูลพวกนี้เข้าไปให้เครื่องเรียนมาก ๆ มันผลที่ได้ก็จะผิด เพราะบอกเลยว่าเครื่องมันไม่รู้หรอกว่า ข้อมูลไหนผิด ข้อมูลไหนถูก มันใช้ความเชื่อจากเราเพียว ๆ อันนี้เราจะเรียกว่า Noisy Data อันนี้รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นเศษ ๆ อยู่ด้วยนะ ดู Outliner อะแหละ

บาง Data มันมางงมาก ๆ เช่นเราบอกว่า Birthday 08/03/1996 ส่วน BirthMonth ได้มาเป็น April เอาละทีนี้ งง เลยละสิว่า เป็นไปได้ไง ข้อมูลพวกนี้เราจะเรียกว่า Inconsistent Data ส่วนใหญ่มันมักจะมากับแหล่งข้อมูลที่ไม่ค่อยได้จัดการเรื่องของ Consistency ของข้อมูลมากนัก ทำให้ข้อมูลที่เราไปดูดมามันหน้าตาแปลก ๆ ถามว่า แล้วมันทำให้เกิดความบรรลัยใน Model ของเราได้ยังไง ก็คงตอบง่ายมากว่า ก็มันผิดไง เราก็เห็น ๆ กันอยู่ว่ามันผิด... เราจะปล่อยข้อมูลผิด ๆ เข้าไปให้เครื่องเรียนแล้วได้ผลผิด ๆ เหรอ ก็คงไม่ดีใช่ม่ะ !

ถ้าเราเจอปัญหา 3 อย่างที่ได้กล่าวไป เราจะทำยังไงได้บ้าง ?

วิธีแรกนั่นง่ายมาก เราก็ตัดมันทิ้งไปเลย ก็จัดว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่า ข้อมูลเรามีไม่เยอะ การตัดก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่ ทำให้การตัด Field ที่เสียไปออกก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ที่ทำให้เราไม่เสียข้อมูลไปทั้ง Row อะไรทำนองนั้น ก็จริง ๆ มันยังมีอีกหลายวิธีมากมายในการจัดการกับ Data พวกนี้ ปัญหามันก็มีอีกหลายเรื่องเลยละ ก็ต้องดูเป็นเคส ๆ ไป

3. Feature Extraction

ข้อมูลที่เราได้มา Plain เลยเนี่ย บางครั้งเครื่องมันก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เหมือนกับที่เวลาเราเรียนภาษาที่ 2,3,4,... เนี่ยบางครั้งเราก็ต้องเอาคำในภาษานั้น ๆ มาแปลให้เป็นภาษาแรกของเราเพื่อให้เราเข้าใจและ Map กลับไปในภาษาแรกที่เราเชี่ยวชาญได้

เครื่องก็เช่นกัน ภาษาของมันคือตัวเลข 1,2,3,4,... ดังนั้นถ้าข้อมูลของเราเป็นข้อความ หรือรูปภาพ เราก็ต้องแปลงให้มันเป็นอะไรที่เครื่องมันเข้าใจได้

แต่คำถามที่น่าจะต้องถามคือ เราจะ Extract อะไรออกมาจากข้อมูลเรา อย่างเช่น ข้อมูลเราเป็นรูปภาพ เราจะเอาอะไรออกมาจากมัน เพราะรูปภาพก็คือ Pixel ที่กองรวมกัน แต่ละ Pixel ก็ประกอบด้วยค่า 3 ค่าคือ R,G และ B หรือถ้าใช้ Colouring Profile แบบอื่นก็มีวิธีต่างกันไป ถ้าเป็น Text มันก็จะเป็น Character หลาย ๆ ตัวกับคำวางกองรวมกัน

ดังนั้น เราจะต้องมาดูว่า เป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการจริง ๆ คืออะไร แล้วลองกลับมาคิดดูว่า ถ้าเป็นเรา เราอยากจะแยก หรือจัดกลุ่มของที่เราต้องการนี้ เราจะแยกมันได้จากอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้แหละ เขาเรียกว่า Feature และแน่นอนว่า Feature ไม่จำเป็นที่จะต้องมาจาก Raw Data ตรง ๆ ก็ได้ เราอาจจะเอา Raw Data มาผ่านอะไรบางอย่างเพื่อให้เราได้ข้อมูลใหม่ นั่นก็เอามาเป็น Feature ได้เหมือนกัน โดยขั้นตอนที่เราลองหา Feature หรือทำ Feature ใหม่ ๆ เราจะเรียกว่ามันคือการทำ Feature Engineering

ยกตัวอย่างเช่นงานที่ผมทำ งานผมทำเกี่ยวกับพวกประโยค ผมก็ย่อย (Tokenise) ประโยคใน Dataset ของผมออกมาเป็นคำ ๆ แล้วเก็บไว้เป็น Feature อันนี้มันก็มีชื่อเรียกนะว่า Bag of Word กับถามว่า แล้วเราจะตีตัวเลขลงไปใน Feature ได้ยังไง ถ้าเรียนมาในวิชา Information Retrieval มันก็จะมี Term Weighting Scheme หลายแบบให้เราเลือกเล่นเช่น Binary, TF, TF-IDF ให้เราเลือกสรร

ส่วนคำว่า Feature Selection มันก็ตรงตามชื่อเลยคือการที่เราเอา Feature มากองรวมกัน แล้วเลือก Feature ที่เราคิดว่ามันสำคัญ ที่จริงมันก็ไม่ได้เป็นที่เราคิดหรอก มันคือการเอาเรื่องของสถิติมาใช้ซะมากกว่าว่าการกระจายตัวของ Feature เราเป็นยังไง Feature ที่เราเอามาดูเนี่ยมันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง มันทำให้เราแยกของที่เราต้องการออกจากข้อมูลอื่น ๆ ได้หรือไม่ เราเรียกมันว่า Generalisation

ยิ่ง Feature เยอะยิ่งดีใช่มั้ย ?

จากตรงนี้เลยทำให้ไปที่คำถามด้านบนว่า จำนวน Feature มีผลกับ Model ของเรามั้ย ? คำตอบคือ ใช่ ลองนึกภาพตามดูนะครับ ว่าถ้าเราแบ่งข้อมูลของเราด้วย Feature ที่มากเกินไป มันก็เหมือนเอาออกกฏมาบอกเยอะมากขึ้นว่า สิ่งที่เราต้องการจะแยกมันหน้าตาเป็นยังไงละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ แต่โลกแห่งความเป็นจริงมันน่ากลัวกว่านั้น บางทีสิ่งที่เราต้องการจะแยกมันดันมี Feature บางอย่างที่ไม่เข้ากับกฏที่เราตั้งไว้ แต่มันคือของที่เราต้องการจะแยกละ ?

เช่นเราบอกว่า หมา มีสีขาว มีขน มี 4 ขา มีหาง เสียงเห่าคือฮ้ง ๆ ขนาดโตเต็มไวราว 30-40 Kg เครื่องก็จะจำไว้แบบนั้น แต่ถ้าวันนึงมีหมา ย้ำนะว่า หมา ที่ มีสีน้ำตาล มีขน มี 4 ขา เสียงเห่าคือฮ้ง ๆ ขนาดโตเต็มไวแค่ 15 Kg เท่านั้น

Overfitting
Overfiiting

ด้วยกฏที่เราบอกไปในตอนแรกก็ทำให้เครื่องคิดว่า สิ่งที่เราป้อนเข้าไปนั้นไม่ใช่หมาแน่นอน เพราะสิ่งนี้ไม่ได้มีสีขาว กับน้ำหนักน้อยเกินกว่าที่จะเป็นหมาได้ ส่งผลให้เครื่องมันเข้าใจผิดนี่เองว่านี่คืออะไรกันแน่ เราเรียกปรากฏการนี้ว่า Overfitting (จำว่ามันคือ Low Bias, High Varience)

Underfitting
Underfitting

อีกเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะตรงข้ามกันคือ Underfitting ลองมาดูเหตุการณ์สมมุติเพื่อให้เห็นภาพกัน กลับมาที่เรื่องหมาเหมือนเดิม จากรอบที่แล้วเราบอกเครื่องเยอะไปว่าหมาควรจะมีหน้าตาเป็นยังไง งั้นเราบอกใหม่ว่า หมา มีลักษณะดังนี้ มีขน 4 ขา มีหาง แค่นี้

แล้วถ้าข้อมูลใหม่ที่เราเอาเข้าไปเป็น แมว ที่ มีขน 4 ขา มีหาง สีขาว ร้องเหมี้ยว คิดว่าเครื่องจะบอกยังไง แน่นอนว่า หมา แน่นอน เพราะมันเข้ากับกฏที่เราบอกไว้ทุกประการเลย แต่ เฉลยมันดันเป็นแมว ไง เหตุการณ์นี้ก็เกินจากที่เครื่องรู้น้อยไปว่าอะไรคืออะไร หรือพูดก็คือมัน General มากเกินไป (พูดง่าย ๆ คือ Varience น้อยไป) จนทำให้เครื่องไม่สามารถแยกอะไรได้เลย เราเลยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Underfitting (จำว่ามันคือ High Bias, Low Varience)

Underfitting vs Good fitting vs Overfitting
Underfitting vs Good fitting vs Overfitting

ซึ่งทั้ง Underfitting กับ Overfitting ให้ผลลัพธ์เดียวกันคือ Model ของเราให้ผลลัพธ์ ผิด เมื่อเราเอาข้อมูลที่เครื่องไม่เคยเห็นมานั่นเอง ดังนั้นเราจะต้องมาทดลองกับข้อมูลของเรากันเองว่า อะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับข้อมูลของเรามากที่สุด อย่างที่บอก มันไม่มีสูตรตายตัว

พวก Math Behind อะไรพวกนั้นไม่ขอลงลึกนะ ไปอ่านกันเอง เอาให้เข้าใจ Concept พอ

พอสุดท้ายจากขั้นตอนนี้เราก็จะได้เป็นชุดตัวเลข หรือ Boolean อะไรก็ว่ากันไปมาตามจำนวนของ Data ที่เรามี เพื่อเอามาใช้ในการทำต่อไป

4. Fitting Model

และแล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ทุกคนคิดกันสักทีนั่นคือการ สร้างโมเดล ทั้งที่จริง ๆ แล้วเวลาส่วนใหญ่ในขั้นตอนตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่การสร้าง Model ใหม่เลย เว้นแต่เราจะคิด Algorithm ในการสร้าง Model ใหม่ ที่ส่วนใหญ่ในเชิงของ Application จริงเราก็ไม่ได้สร้าง Algorithm เองไง

หลัก ๆ ของขั้นตอนนี้คือการเอาข้อมูลที่เรามีมาสร้าง Model ซึ่งบนโลกนี้มันก็มี Library ที่สำหรับทำ Machine Learning หลายตัวมาก ๆ เช่น Scikit-learn ใน Python เป็นต้น ใน Library ก็มีหลากหลาย Algorithm ให้เราเลือกใช้เช่น Naive Bayes และ Support Vector Machine (SVM) หรือถ้าใครเป็นสายถึกก็เขียนเอง ก็เอาที่สบายใจเลย ซึ่งแต่ละ Algorithm ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป หน้าที่ของเราคือ เราต้องเข้าใจว่า Algorithm ตัวไหนมีลักษณะอย่างไร ทำงานยังไง ข้อดีข้อเสียต่างกันยังไง ส่วนมันจะเหมาะกับข้อมูลของเราหรือไม่ มันก็ต้องเอามาลองดู เพราะมันไม่มีสูตรตายตัวว่าอะไรเหมาะกับอะไรชัด ๆ ขนาดนั้น

ในขั้นตอนของการสร้าง Model เรายังสามารถกำหนด Parameter ต่าง ๆ ได้เพื่อให้มันเข้ากับข้อมูลของเราได้ดีขึ้น ซึ่งในแต่ละ Algorithm ก็จะมี Parameter ที่แตกต่างกันไป อันนี้เราก็ต้องไปทำความเข้าใจถึงหลักการเบื้องหลังของแต่ละ Algorithm เราก็จะเข้าใจว่า Parameter แต่ละตัวมันคือการปรับแก้ตรงไหนบ้าง

5. Model Evaluation

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Model ที่เราสร้างขึ้นมานั่นใช้ได้ผลจริง

เราก็ต้องมาทำการทดสอบกัน ซึ่งในการทดสอบก็ทำได้หลายวิธีมาก ๆ โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการที่เราเอาข้อมูลมาให้เครื่องดูแล้วทำการแยกว่าสิ่งนี้มันคืออะไร แล้วมาดูผลว่าเครื่องมันให้ผลอย่างที่เราต้องการรึเปล่า

ลองนึกถึงเวลาเราจะสอบ ถ้าอาจารย์เอาโจทย์ที่เราเจอมาในห้องมาออกสอบแบบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลยแม้แต่ตัวเลข มันก็คงไม่แปลกเลยที่เราจะทำได้ เพราะเราเคยเห็นมันแล้วครั้งนึง ดังนั้นใน Machine Learning เวลาเราจะทดสอบ เราจะใช้ข้อมูลที่เรารู้ว่าคำตอบที่ควรจะได้คืออะไร แต่เครื่องต้องไม่เคยเห็นมัน

แล้วเราจะทำยังไงไม่ให้เครื่องเคยเห็นมาก่อน ?

คำตอบง่ายมากคือ ตอนที่เราจะสร้าง Model เพื่อทดสอบเราก็แยกข้อมูลที่เราต้องการจะใช้ทดสอบออกมาซะก่อนสิ โดยปกติเวลาทำกันจริง ๆ เราจะแบ่งข้อมูลออกเป็น 80:20 โดย 80% ของข้อมูลที่มีจะเอาไปให้เครื่องสร้าง Model ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเอามาใช้ทดสอบ

แต่หลายคนอาจจะแย้งว่า แต่บอกไปไม่ใช่เหรอว่า จำนวนข้อมูลยิ่งเยอะยิ่งดี นั่นก็จริงครับ บวกกับในบางเคสเราไม่ได้มีข้อมูลมากพอที่จะตัดแบ่งได้แบบนั้น ดังนั้นการแบ่งข้อมูลแบบ 80:20 จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีซะแล้ว มันเลยนำไปถึงอีกวิธีนึงคือ N-Fold Cross Validation

N-Fold Cross Validation
N-Fold Cross Validation

หลักการของมันคือ การที่เรา ซอยข้อมูลออกไปเป็น n ส่วนเท่า ๆ กัน และค่อย ๆ loop เอาข้อมูลมาสลับกันสร้าง Model และทดสอบกันทีละชุดเรื่อย ๆ กล่าวคือ สมมุติเราอยู่ที่ก้อนแรก เราก็จะเอาก้อนที่เหลือที่ไม่ใช่ก้อนแรกไปสร้าง Model และเอาก้อนแรกที่เครื่องไม่เคยเห็นมาทดสอบ และเราก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และค่อยเอาค่าต่าง ๆ มาเฉลี่ยออกมาเป็นผล ทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลทั้งหมดในการสร้างและทดสอบ Model ได้

Type of Errors

นั่นแปลว่า ตอนนี้เราจะมีข้อมูลอยู่ 2 ตัวคือ ข้อมูลจริง ๆ ที่เราเขียนเฉลยไว้ กับข้อมูลที่เครื่องคิดมาให้ จากตรงนี้ เราก็สามารถที่จะดูได้แล้ว่า เครื่องคิดผิดหรือถูกมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราใช้ความรู้ทางสถิติสักหน่อย ในนั้นมันก็จะมีค่าหลายอย่างมาก เช่น Precision, Recall, F1-Score และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะมาช่วยทำให้เราเข้าใจผลการทดลองได้มากขึ้น

ในขั้นตอนหลังจากนี้ เราก็อาจจะเอา Model ของเราไป Deploy เพื่อให้กับระบบจริง ๆ หรือ เราอาจจะต้องเอา Model มา Fine-Tune ดู Miss-Classification และสร้าง Feature ใหม่ ๆ มาจับ ทำให้มันเก่งยิ่งขึ้นก็ได้เหมือนกัน

สรุป

เรามาสรุปสิ่งที่เราอ่านกันมายาวเหยียดเกิน 8 บรรทัดนี้กัน เริ่มจากขั้นตอนในการทำ Machine Learning กันก่อน ผมแบ่งออกมาเป็นขั้นตอนใหญ่ ๆ 5 ขั้นตอนโดยเริ่มจากการเก็บ Data จากนั้นเอามาทำ Preprocessing เพื่อคัดกรอก หรือแปลง Data ให้มันอยู่ในรูปที่เราต้องการ แล้วก็เอาไป Extract Feature ให้มันออกมาอยู่ในรูปแบบที่เครื่องเข้าใจได้ แล้วก็สร้าง Model และทดสอบ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน

5 ขั้นตอนนี้ดูง่ายจังเลยนะ

แต่บอกเลยว่า แต่ละขั้นตอนมันก็มีความยุ่งยากของมัน เช่นการเก็บ Data ที่เราจะหาวิธีเก็บยังไง บางงานมันก็ไม่ได้แค่ไปคุยกับ 1-2 คน แต่คุยกับคนเป็นร้อยคนเพื่อเอา Data มาทำก็มี หรือจะเป็น Preprocessing ที่ทำให้หัวร้อนนั่งด่า Data Source รัว ๆ ว่าทำไมไม่ทำให้ข้อมูลมันดี ๆ อะไรทำนองนั้น และในแต่ละขั้นตอนมันก็จะมีเทคนิคอะไรหลายอย่างมาก ๆ เช่นเราบอกว่าเราไม่สามารถหาเฉลยให้ข้อมูลไม่ได้มาก มันก็จะมีวิธีที่เรียกว่า Co-Training มาช่วยได้อยู่ หรือจะมีการสร้าง Feature แปลก ๆ ออกมามากมาย เพื่อทำการดักจับสิ่งที่เราต้องการ

ดังนั้นการทำ Machine Learning นั่นเป็นอะไรที่มันไม่ได้ตายตัว มันเป็นเหมือนศิลปะแบบนึงเลย ที่เราต้อง ใช้จินตนาการและการลองผิดลองถูก ทั้งลองจากประสบการณ์และเซ็นส์ บวกกับแต้มบุญที่เรามี แต่การทดลองที่เป็นไปอย่างมีระบบ ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทดลองนั่นประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างคิด จากทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ Machine Learning กลายเป็นสิ่งที่สนุก เพราะเราได้คิด ได้ลองทำโน้นนี่นั่นเยอะแยะมากนั่นเอง

Read Next...

ฮาวทูย้าย Synology Add-on Package ไปอีก Volume

ฮาวทูย้าย Synology Add-on Package ไปอีก Volume

เรื่องราวเกิดจากการที่เราต้องย้าย Add-on Package ใน DSM และคิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะต้องประสบเรื่องราวคล้าย ๆ กัน วันนี้เราจะมาเล่าวิธีการว่า เราทำยังไง เจอปัญหาอะไร และ แก้ปัญหาอย่างไรให้ได้อ่านกัน...

จัดการ Docker Container ง่าย ๆ ด้วย Portainer

จัดการ Docker Container ง่าย ๆ ด้วย Portainer

การใช้ Docker CLI ในการจัดการ Container เป็นท่าที่เราใช้งานกันทั่วไป มันมีความยุ่งยาก และผิดพลาดได้ง่ายยังไม่นับว่ามี Instance หลายตัว ทำให้เราต้องค่อย ๆ SSH เข้าไปทำทีละตัว มันจะดีกว่ามั้ย หากเรามี Centralised Container Managment ที่มี Web GUI ให้เราด้วย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ Portainer กัน...

Host Website จากบ้านด้วย Cloudflare Tunnel ใน 10 นาที

Host Website จากบ้านด้วย Cloudflare Tunnel ใน 10 นาที

ปกติหากเราต้องการจะเปิดเว็บสักเว็บ เราจำเป็นต้องมี Web Server ตั้งอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่ง ต้องใช้ค่าใช้จ่าย พร้อมกับต้องจัดการเรื่องความปลอดภัยอีก วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการที่ง่ายแสนง่าย ปลอดภัย และฟรี กับ Cloudflare Tunnel ให้อ่านกัน...

จัดการข้อมูลบน Pandas ยังไงให้เร็ว 1000x ด้วย Vectorisation

จัดการข้อมูลบน Pandas ยังไงให้เร็ว 1000x ด้วย Vectorisation

เวลาเราทำงานกับข้อมูลอย่าง Pandas DataFrame หนึ่งในงานที่เราเขียนลงไปให้มันทำคือ การ Apply Function เข้าไป ถ้าข้อมูลมีขนาดเล็ก มันไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าข้อมูลของเราใหญ่ มันอีกเรื่องเลย ถ้าเราจะเขียนให้เร็วที่สุด เราจะทำได้โดยวิธีใดบ้าง วันนี้เรามาดูกัน...