My Life

MUICT Open House งานที่ให้อะไรมากกว่าที่เราคิด (ฉบับ Censored)

By Arnon Puitrakul - 02 มิถุนายน 2018

MUICT Open House งานที่ให้อะไรมากกว่าที่เราคิด (ฉบับ Censored)

เมื่ออาทิตย์ก่อนมานั่งกวาด ถู และจัดห้อง ของมันเยอะมาก !!! สะสมมันมา 4 ปี คือเต็ม 2 ถุง จนมาถึงกอง Badge ของงานที่เคยได้ร่วมมาตลอด 4 ปี เจอยันที่ไปแข่ง ACM-ICPC รอบ Asia ที่ตอนนั้นจัดที่จุฬา ฯ ตอนปี 1 คือมันนานมาก จนแบบลืมไปแล้ว... จนทำให้กลับมานั่งดูรูปตอนนั้น มันก็สนุกดีนะ ด้วยความเป็นเด็กปี 1 ด้วยละมั่ง จัดไปจัดมาจนมาถึงงาน MUICT Open House การได้เข้ามาทำงานนี้เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้

คำเตือน : เรื่องนี้มันยาวมาก เป็นเหมือนบันทึกของซังกุงสูงสุด ถ้าคิดว่าปีนึงกะจะอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดแล้วก็จงข้ามบทความนี้ไปเพราะมันยาวจริง ๆ เตือนแล้วนะ อย่าหาว่าพี่ไม่เตือน เซฟป้อมไม่ได้กล่าวไว้

จุดเริ่มต้น

จำได้ว่าตอนนั้น ตอนปี 2 กำลังปั่นจักรยานกลับหอกับเพื่อนที่ตอนนั้นเป็นประธานรุ่น อยู่หอเดียวกันคนละตึกก็เลยกลับพร้อม ๆ กัน ปั่น ๆ ไปจากคณะจนเกือบถึง ประตู 6 ตอนนั้นบรรยากาศคือ มืด ๆ มีไฟจากข้างทาง ฝนพึ่งหยุดตกใหม่ ๆ อากาศชื้น ๆ คุยเล่นกันไปมาจู่ ๆ ก็ถามว่า มาทำฝ่าย Project Open House มั้ย ?

ตอนนั้นคืองาน Open House ที่มหิดลจะไม่ได้จัดทุก ๆ ปีเหมือนปัจจุบัน ซึ่งปีที่เข้ามาจากปี 1 จนถึงปี 2 คือไม่เคยมีงาน Open House เลย ไปล่าสุดที่ไปคือตอน ม.6 ได้ไปครั้งนึง ซึ่งตอนนั้นคือไปแทบทุกคณะเลย ยกเว้นคณะเดียวเลยคือ ICT ใช่ครับ คณะที่ผมอยู่จนเกือบจะจบตอนนี้ ซึ่งตอนนั้นสาเหตุที่ไม่เข้าไปคือก็คงไม่เข้าคณะนี้หรอกนะ เลยไม่อยากไปสักเท่าไหร่ ถ้าตอนเด็ก ๆ เคยไป Open House ของมหาลัยต่าง ๆ เราจะรู้ว่าเวลาเรามีจำกัด เราก็จะไปแค่คณะที่เราสนใจซึ่งก็จะเป็นคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวะ (อันนี้ที่ไปเพราะพี่ที่พาเดินตอนนั้นอยู่วิศวะ และตอนนี้มันย้ายไปอยู่คณะวิทย์ ฯ แทนละ)

กลับมาที่คำถามที่เพื่อนเราถามตอนนั้น ตอนนั้นคือก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าคิดเยอะแค่ไหน ก็ตอบว่าได้ !! เชี้ยตอนนั้นคิดอะไรอยู่ฟร๊ะ !! หลังจากนั้นก็ได้อีเมล์ไปสัมภาษณ์เข้าฝ่าย Project ของงาน Open House โดยที่เรารู้แค่ว่าภาพรวมของงาน Open House ส่วนกลางอารมณ์มันเป็นอารมณ์ไหน เพราะก็เดินมาหมดละ แต่ก็ไม่รู้ว่าคณะจัดมันออกมาหน้าตายังไง และก็ไม่รู้ด้วยซำ้ว่าฝ่าย Project ทำอะไรบ้าง แบบ Zero Knowledge เลยว่าต้องทำอะไรบ้าง

อธิบายเพิ่มเติมนิดนึงว่า ในการจัดงาน Open House ในคณะมันก็จะประกอบด้วยฝ่ายหลาย ๆ ฝ่าย เช่น ฝ่าย Stage, ฝ่าย PR และอื่น ๆ อีกหลาย ๆ ฝ่าย นับหลายชีวิต เพราะงานที่ดีมันก็ไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว แต่มันมักจะมาจากการร่วมมือร่วมใจกันของคนหลาย ๆ คนมาช่วยกันสร้างสรรค์งานออกมาให้น้อง ๆ ได้มาเดินกัน ซึ่งฝ่ายที่เรามาอยู่คือเราเรียกว่าฝ่าย Project หรือเต็ม ๆ ก็คือ ฝ่ายโครงงานนักศึกษา ถ้าใครเคยมาเดินมันก็จะมีนิทรรศการเอางานของพี่ ๆ มาจัดแสดงกัน หน้าที่ของฝ่ายนี้คือดูง่ายมาก ๆ นั่นคือ ทำยังไงก็ได้ให้มีงานมาแสดงให้ได้ นอกจากนั้นในแต่ละทีม ลักษณะของการทำงานจะเป็น มีอาจารย์หรือพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ในคณะ, ปี 4,3,2 ทำงานเป็นชั้น ๆ ไป ปี 4 ก็จะเป็นคนที่ดูแลหลักในฝ่ายแต่ละฝ่าย อีกหน้าที่นอกจากทำให้งานเกิดขึ้นได้ของปีสูงคือการสอนรุ่นน้องรุ่นต่อไปเพื่อมาสืบทายาทอสูรต่อไปให้ได้

2nd Year Project Stuffs
ซ้ายไปขวา : พี่วิน, พี่แม๊กซ์, อ.ยุ้ย, ฉัน

ก็เข้าไปสัมภาษณ์ก็โดนถามอะไรจำไม่ได้ละ แต่จำความรู้สึกได้ดีว่า เครียดชิบหาย !! เหงื่อนี่ออกที่มือเลยอะ เพราะตอนนี้คือเราอยู่ปี 2 แล้วคนที่มาสัมภาษณ์เราคือ พี่คนนึงชื่อพี่แม๊กซ์ปี 3, พี่วิน 4 และอาจารย์ศรีสุภา (ต่อจากนี้จะเรียกว่า อ.ยุ้ยละกัน เพื่อความสั้น) เชี้ยยย จะโดนอะไรมั้ยเนี่ย !!! แต่มันก็ผ่านมาได้ ผ่านเหวย !!! ก็ทำสัญญาเลือด (เอิ่มม เราไม่ได้กรีดเลือดกันนะ 😅) กันว่า ก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนปี 4

Assignment แรกที่แสนน่ากลัว

หลังจากสัมภาษณ์ไปไม่กี่นาที และก็ผ่าน หลังจากนั้นงานก็เริ่มขึ้นมาทันที เพราะจริง ๆ แล้วก่อนที่จะเอาเราเข้ามา แก๊งค์ปีสูงและอาจารย์ก็ได้เริ่มงานไปก่อนแล้ว แล้วค่อยเอาเราเข้ามาทีหลังตอนก่อนจะเริ่มงานแบบ Official อีกที ซึ่งด้วยความที่เราตอนนั้นเป็นเด็ก ปี 2 ธรรมด๊าธรรมดา ไม่รู้อะไรมาก่อนเลย ตอนปี 1 คือเรียนและเล่นกับเพื่อนอย่างเดียวไม่เคยทำกิจกรรมอะไรเลย มาตอนนี้คือเราต้องมาทำกิจกรรมจริง ๆ จัง ๆ ก็คือพี่ ๆ ในทีมก็เข้ามาสอนว่า หน้าที่ของฝ่ายเราต้องทำอะไรบ้าง เราต้องทำอะไรบ้าง เราต้องติดต่อกลับใครยังไง

เพราะในการทำงานทุกอย่างมันจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Protocol ตั้งแต่ว่า จะส่งอีเมล์เราจะต้องใช้หัวเรื่องยังไง เราต้อง CC อะไรยังไง เขียนอีเมล์ยังไง โดยเฉพาะเรื่องของการเขียน Email ที่มันเป็นศิลปะอย่างนึงเลยนะ ที่จะทำยังไงให้แค่ตัวหนังสือสื่อสารไปถึงผู้รับสารแล้วผู้รับสารได้รับสารได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ เพราะเวลาส่วนใหญ่ เรามักจะไปขอความช่วยเหลือขอ Project มาแสดง ถ้าเราเขียน Email ไม่ดี มันจะกลายเป็นว่า เราไปบังคับเขาให้เอา Project มาแสดง แต่ถ้าเราเขียนแล้วคิดนิดนึง เอาใจเขาใจเรา ถ้าสมมุติว่า เราได้อีเมล์มาขอความช่วยเหลือจากเรา แล้วข้อความที่เราอ่านมามันเหมือนเราโดนบังคับ เราก็คงไม่อยากจะทำใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้นแค่เรื่องของการเขียนอีเมล์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเรื่องอื่น ๆ ใน Protocol อีกมากมาย ซึ่งตอนแรกบอกเลยว่า ก็ไม่เข้าใจนะว่า ทำไมต้องส่งอีเมล์แบบนี้ ทำไมต้องทำแบบนี้ แบบนั้น

อีกเรื่องของการตั้งชื่อไฟล์ การจัดไฟล์ต่าง ๆ ตอนแรกก็ไม่ได้เห็นความสำคัญเลย รู้สึกอึดอัดด้วยซ้ำว่า จะจัดอะไรกันนักหนา Folder ลึกลับมากมายเต็มไปหมดอะไรแบบนั้น แต่พองานจบโอ้โห้ มันทำให้เรารู้เลยว่า Protocol ที่ตั้งขึ้นมามันสำคัญขนาดไหน จากนั้นทุกงานที่ทำจัดแบบนี้กันหมด

กลับมาเรื่องของ Assignment กันบ้าง ตอนนั้น Assignment แรกที่ได้รับจากพี่ ๆ คือการไปรวบรวมชื่อ Project พร้อมกับ Short Description ที่มีอยู่แล้วออกมาเป็นไฟล์สรุปเพื่อที่จะเตรียมไปขอนำมาแสดงอีกที สุดท้ายแล้วงานครั้งแรก ความผิดพลาด จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องปกติของทุกคน including ฉันด้วย ~ ผิดแบบระบมเลยจร้าาา ผิดแบบไม่คิดว่าจะผิดได้ ผิดด้วยความวิตกจริตล้วน ๆ

ปี 2 : ช่วงเวลาปรับตัว

ด้วยความที่งานฝ่าย Project มีค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ ต้องติดต่อกับคนหลายระดับ ตั้งแต่เพื่อน รุ่นพี่ ยันอาจารย์ ซำ้หนักกว่านั้นต้องรู้ Technical เพื่อมาเซ็ตให้งานมันมาแสดงได้ มันเลยเป็นงานที่ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย กับตอนนั้นคือเราก็ไม่ได้มาจัดงานแค่อย่างเดียว เพราะแน่นอนเรามามหาลัยเราก็ต้องมาเรียน ฉะนั้นเรื่องของงาน Open House มันเลยเป็น Task ที่ถูกเพิ่มขึ้นมา ทำให้เราต้องมีการจัดการเวลาที่มากขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า มันจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่

นึกภาพถึงตลาดหุ้นที่มันมีเปิดและปิดตลาด ตอนที่เปิดตลาดซื้อขายกัน เราก็อาจจะกังวลว่าหุ้นที่เราถืออยู่มันจะขึ้นหรือลง แต่พอตลาดปิดเท่านั้นแหละทุกอย่างมันก็คล้าย ๆ กับเหมือนถูกทำให้หยุดนิ่งไว้ ทำให้เราไม่ต้องมากังวลมากกว่าเวลาที่ตลาดปิดเงินเราจะหายไปไหนได้เพราะราคาที่เปลี่ยนไป แต่งานนี้มันก็ไม่ได้มีเวลาในการทำงานที่ชัดเจนมาก เช่นเด็ก ๆ นศ. ตอนกลางวันก็จะเรียนหนังสือไป ส่วนพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยกันจัดงานนี้ด้วย เรื่องการจัดงานก็เป็น Task หนึ่งที่เขาต้องทำ เพราะฉะนั้นงานบางอย่างมันก็จะเกิดขึ้นใน Office Hours ตอนที่เด็ก ๆ นศ. กำลังเรียนอยู่นั่นเอง มันก็ทำให้เวลาเรียนไปมันก็จะแอบมีเสียวสันหลังเบา ๆ กับพอหมด Office Hours เด็ก ๆ นศ. ที่พึ่งเลิกเรียนก็จะมาเตรียมงานต่อ ดังนั้นงานมันแทบจะรันไปแบบ 24/7 เลยแค่เหมือนกับพลัดกันทำงานกันไป มันเลยทำให้มันมีโอกาสที่หลาย ๆ อย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เคสง่าย ๆ อย่างเช่นการไปซื้อของ เราอาจจะบอกว่า เราอยากได้เทปกาว 2 หน้าขนาดความกว้าง 10 cm นะ ฝากฝ่ายที่จัดหาของไปซื้อ ที่อาจจะไปกันตอนกลางวัน ที่เรากำลังเรียน แล้วพบว่ามันไม่มีหรือหมด คือด้วยการที่ผลัดกันทำงานแบบนี้ทำให้มันมีโอกาสที่เรื่องจะสามารถ Popup ได้ตลอดเวลา คิดซะว่ามันเป็นการฝึกเรื่องของเซ็นส์การระวังตัวที่มนุษย์ในยุคเก่า ๆ มักจะมีเพื่อปกป้องตัวเอง

เพราะฉะนั้นแล้ว การเข้ามาทำงานนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างแรกคือ หนึ่งเรามีงานเพิ่มขึ้นแต่เวลาเท่าเดิม วิธีแก้คือ เราอาจจะลดเวลาที่เราเอาไปวิ่งเล่นมาทำงาน หรือทำงานให้ไวขึ้น ซึ่งวิธีนี้มันดูเป็นอะไรที่ดูยากใช่มั้ย คำตอบคือใช่ จะบ้าเหรอ จู่ ๆ เราจะบอกว่า ให้เราทำงานเท่าเดิม คุณภาพเท่าเดิม แต่ใช้เวลาน้อยลง มันดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ถ้าเราเทียบงานและเวลาเป็นสมการ แต่จริง ๆ แล้วมันมีอีกตัวแปรนึงที่เราอาจจะไม่เห็นในสมการในช่วงแรกคือ Know How

อะไรที่เราทำครั้งแรก ๆ เราอาจจะใช้เวลามากสักหน่อย แต่พอเราทำหลาย ๆ ครั้งเข้าเวลาที่เราใช้มันก็จะน้อยลงไป เพราะเรารู้แล้วว่าเราต้องทำยังไง เราน่าจะผิดอะไร แล้วเราก็ไล่แก้ไป ครั้งถัด ๆ ไปมันก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ เวลาประชุมผมก็ต้องเขียนสรุปการประชุม ที่ตอนแรกก็บอกเลยว่า ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเขียนแล้วเขียนอีกเพื่อให้อ่านรู้เรื่อง ยันการส่งอีเมล์ที่ดูแล้วดูอีก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ Task เหล่านี้เราก็จะใช้เวลากับมันน้อยลง ทั้งที่มันเป็น Task เดียวกับที่เมื่อก่อนเราใช้เวลานานมาก ๆ นั่นเอง

ด้วยความที่เป็นน้องเล็กสุดในตอนนั้นก็เป็นเรื่องดี เพราะเราจะมีพี่ ๆ กับอาจารย์มาช่วยเราดู ว่าอันไหนเราทำไม่ถูก อันไหนเราทำถูก เพราะอะไรยังไง ถ้ามันไม่ดี แล้วทำไมมันไม่ดี และมันจะส่งผลยังไงต่อไป จนทำให้เราก็ค่อย ๆ เข้าใจไม่ใช่แค่จำว่า ต้องทำแบบนี้ ๆ นะ แต่เราเข้าใจว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วมันจะเป็นยังไง ทำให้เราเกิด Awareness มากขึ้น ระวังตัวมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น แต่แน่นอนฮ่ะว่า ไม่ว่าเราจะระวังมากแค่ไหน ความผิดพลาด ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจากปัจจัยภายใน หรือภายนอกก็ตาม ทำให้อีกเรื่องที่เราได้เรียนรู้เยอะมากในปีนั้นคือเรื่องของ Crisis Management ว่าถ้าความผิดพลาดมันเกิดขึ้น เราจะจัดการกับมันยังไง คำนึงที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือคำว่า “สติ”

เคยได้ยินกันมั้ยครับว่า “สติมาปัญญาเกิด สติเตริดปัญญาหาย” ประโยคนี้ใช้ได้ดีกับเรื่องนี้เลย ยกตัวอย่างจากตอนนั้นของผม แค่เรื่องง่าย ๆ อย่างการส่งเมล์ผิดในฝ่าย จริง ๆ แล้วปัญหานี้มันไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่เลยนะ ถ้าเราลองคิดว่า มันก็ผิดในฝ่ายซึ่งเราสามารถที่จะคุยได้ และรับผิดไป แต่ตอนนั้นมันก็มีความรนอยู่เต็มไปหมด นั่นคือตอนที่เราไม่มีสติในการแก้ปัญหา ปล่อยในอารมณ์พาไป

The Happiness Manual Cover
THE HAPPINESS MANUAL โดย ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

ช่วงนี้เรากำลังอ่านหนังสือเล่มนึงชื่อ The Happiness Manual ที่มีการพูดถึงว่า คนเราจะมีระบบที่ช่วยเราตัดสินใจอยู่ 2 ระบบคือ ระบบแรกจะมีข้อดีมากที่มันสามารถทำงานได้เร็วมาก ๆ แต่มันมักจะไม่ค่อยมี Logic ในขณะที่อีกระบบนึงมันทำงานช้ากว่าระบบแรกอีก เพราะมันใช้เหตุและผลมากกมายในการกลั่นกรองก่อนที่มันจะ Output ออกมาเป็นการตัดสินใจ ฉะนั้นถ้าเราปล่อยในระบบแรกมาเป็น Main ในการตัดสินใจที่ต้องใช้เหตุและผลมันก็ทำให้เราอาจจะได้ผลลัพท์ที่อาจจะไม่ได้ Optimal ที่สุดก็ได้ แต่ข้อดีของมันก็มีคือ มันเร็ว ในหนังสือยกตัวอย่างประมาณว่า มีเสืออยู่ข้างหน้า ระบบที่ 1 อาจจะบอกว่า มันคืออะไรไม่รู้ แต่หนีไว้ก่อนดีกว่า ในขณะที่อีกระบบนึงมันกำลังประมวลผลอยู่ว่า อื้มมม นี่มันมี 4 ขา มีเขี้ยว น่าจะเป็นอะไรนะ ??? กว่าจะคิดเสร็จพอดี เสือมันวิ่งมาคาบไปแดกเรียบร้อยละ

กลับมาเทียบกับงานนี้กันบ้าง ถ้าเราปล่อยให้ระบบแรกเข้ามาเป็นนายเรา มันก็เหมือนกับเราให้อารมณ์เข้ามาเป็นตัวตัดสินใจ แทนที่จะเป็นอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกัน ในเคสที่เราต้องตัดสินใจเดี๋ยวนั้น ระบบแรกก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ไม่งั้น กว่าเราจะตัดสินใจได้ มันก็คงเลยสุดที่เราต้องตัดสินใจในเรื่องนั้นจนงานพังไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นในการทำงานจริงความคิดทั้ง 2 ระบบก็ยังคงต้องมีอยู่ทั้งคู่เพื่อให้เราอยู่รอด และเรียนรู้เพื่อนำกลับมาเพิ่มความเร็วให้กับระบบแรก ทำให้เราโอกาสของการอยู่รอดของเรามาขึ้นได้นั่นเอง

อีก Task นึงที่ได้รับมาเป็นเหมือนของขวัญรับน้องคือการต้องไปติดต่อเพื่อให้ได้งานมาจัดแสดง ตอนนั้นก็ได้มอบหมายมาให้ไปติดต่อพี่ ๆ 2-3 งาน จำจำนวนจริง ๆ ไม่ได้ละ ตอนนั้นก็แอบเกร็งนะว่า เฮ้ย จะเขียนเมล์ยังไงดีนะ จะต้องขออะไรบ้าง ต้องทำยังไงบ้าง พี่เขาจะด่ามั้ย อะไรทำนองนั้น เพราะประโยคที่ได้รับมอบหมายมาคือ ไปติดต่อ Project ____, ____ และ ____ มานะ แล้วก็นี่คือ Contact Point ของคนที่เกี่ยวข้องนะ

ตอนแรกคือ ฮ่ะ ? แค่นี้เลย ? เออโจทย์สั้นดีนะ เหมือนโจทย์ในห้องสอบเลย ข้อไหนมันสั้น ๆ เราจะข้ามหมด เพราะมันให้อะไรมาน้อย มันต้องยากมากแน่ ๆ เป็นไงละรอบนี้เจอสั้นมาก ๆ สั้นจนเอิ่ม... แล้วเราต้องไปทำอะไรต่อฟร๊ะ !!

ด้วยความเป็นเด็กไร้ประสบการณ์เลยไปถามพี่ ๆ และอาจารย์ในฝ่ายว่าแล้วจริง ๆ แล้วมันต้องทำอะไรบ้าง คำตอบที่ได้คือ แล้วนายคิดว่า การที่จะได้งานออกมาแสดง มันต้องมีอะไรบ้างละ นายก็ไปจัดการมาให้ได้ตามนั้นแหละ !

ตอนแรกก็หืม.... แล้วกรูจะรู้ได้ไงฟร๊ะ !!! แต่พอลองมานั่งคิดดี ๆ แล้วเนี่ย นึกถึงว่าเวลาเราไปงานที่เขาเอางานมาจัดแสดงต่าง ๆ มันต้องมีอะไรบ้าง มันก็น่าจะมี ตัวงาน, อุปกรณ์ที่ต้องใช้ และคนที่เอามาอยู่บูท จากนั้นเราก็ต้องมาย่อยอีกว่า ใน 3 อย่างที่ว่ามา เราต้องขออะไรจากพี่ ๆ เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Project นั้นเพราะถ้าเราไม่รู้ มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำยังไงก็ได้ ที่ต้องรู้ให้ได้ แล้วค่อย List ออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วค่อยติดต่อเจ้าของงานไป

แต่แล้วปัญหาถัดไปมันก็เข้ามาเมื่อ ปกติแล้วเป็นมนุษย์ที่ไม่ค่อยมีทักษะในการสื่อสารด้วยตัวหนังสือมากนัก บางทีตั้งใจสื่ออย่างนึงมันดันได้อีกอย่างซะงั้น ทำให้หลังจากที่เราสรุปสิ่งสารที่เราต้องการส่งแล้ว เรายังต้องมาคิดอีกทอดว่า เราจะสื่อสาร สารที่เราต้องการส่งอย่างไรให้น่าอ่าน ฟังแล้วเหมือนวิชาภาษาไทยตอนประถมเลยนะ เราว่ามันน่าจะเรียกว่า วิชาชีวิตมากกว่านะ เพราะมันคือ How to survive in the real world เลยละ จะคุยกับคนยังไงให้เขารู้สึกว่า เราจริงใจ และน่าช่วยเหลือจริง ๆ ตอนแรก ๆ ก็ Draft เมล์ที่ต้องส่งไปหาพี่ ๆ และอาจารย์ในฝ่ายก่อนว่ามันน่าอ่านมั้ย ซึ่งแรก ๆ ก็คือโดนไล่กลับไปเขียนมาใหม่ เขียนไปตรวจไปจนในที่สุดก็ผ่านและส่งไป พอพี่เขาตอบเมล์กลับมา ก็ต้องคิดอีกว่าแล้วจะยังไงต่อ คิดเป็น If Then Else เหมือนเราเขียนโปรแกรมแบบนี้เป็นวงเวียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะได้สิ่งที่เราต้องใช้ทั้งหมด ก็ Project แรกที่ได้ทำจริง ๆ คือ Project ที่ชื่อว่า RoadCast ก็ขอให้พี่รู้ว่าพี่คือครั้งแรกของน้อง (ทำไมมันดูอีโรติกแปลก ๆ)

อ่านมาจนถึงตอนนี้ ลืมอะไรไปอย่างรึเปล่าครับว่า จริง ๆ แล้วพวกเราก็ต้องเรียนหนังสือ อาจารย์ก็ต้องมาสอน พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ใช่ครับ ถ้ามันมีงานใหม่เข้ามา แต่เรามีเวลาเท่าเดิม การจัดการเวลาของเราก็ต้องดีขึ้น เพราะงานเรามาขึ้นนี่หว่า ! จากเมื่อก่อนที่มักจะเป็น สายแบก ก็เริ่มลดนิสัยนี้ให้น้อยลง เพราะแทนที่จะต้องมาแบก เราก็มีหน้าที่ใหม่เข้ามานั่นคือการจัดงาน Open House อีก นอกจากนั้นการบ้านและหลาย ๆ อย่างที่ตอนแรกอาจจะใช้เวลาหลายชั่วโมง อาจจะต้องทำให้เสร็จเร็วขึ้นเพื่อให้มีเวลามานั่งประชุม และเตรียมงานกัน ทำให้การจัดการเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นอีกมาก ๆๆๆๆ ในชีวิต จากที่จัดเวลาค่อยไม่เคร่งมาก ตอนนั้นมานี่ต้องเป๊ะ ๆๆ คุยงานก็คุยได้เท่านี้ เท่านั้น กี่โมงเท่านั้น ไม่งั้นงานอื่นก็พังตามกันไป เละไปหมด

Walkie-Talkie

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องมาหัดคือ เรื่องของการใช้วิทยุสื่อสาร ที่เฮดจะต้องใช้เป็นทุกคน เพราะต้องใช้สื่อสารกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ณ หน้างาน เพราะเราก็คงไม่วิ่งขึ้นลงเพื่อส่ง Information แน่นอน จุดที่มันสนุกมันอยู่ที่การซ้อมนี่แหละ เพราะนอกจากจะใช้วิทยุเป็นแล้ว ยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์แปลก ๆ ในการสร้างเรื่องที่เอาเหตุการณ์แปลก ๆ เช่นแมวหลุดออกจากกรงมาไล่ข่วนพยาบาลอะไรทำนองนั้น มาเล่นกันทำให้รู้สึกว่าสนุกกับการซ้อมมาก ถถถถถ

ก่อนวันงานไม่กี่วันมันจะเป็นช่วงที่คณะจะเหมือนไฟไหม้หน่อย ๆ เพราะอะไรที่ยังค้าง อะไรที่ยังเตรียมไม่เสร็จมันต้องทำให้เสร็จ และทดสอบก่อนงานจะเริ่ม ช่วงเวลานั้นแหละเราว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สนุกอีกช่วงนึงของการเตรียมงานที่ได้มาช่วย ๆ กันเตรียมงาน ช่วยกันทำงานที่ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่งานที่เราได้มอบหมายมาก็เถอะ นั่งกินข้าวด้วยกัน แต่สุดท้ายพวกเราก็คือทีมเดียวกัน ~

MUICT Open House 2015 Project all stuffs

จนถึงวันงานก็แอบตื่นเต้นมากเพราะมันเป็นครั้งแรก ตอนนั้นไม่รู้เลยนะว่า ณ หน้างานจริงมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงแม้ว่าเราจะมีการเตรียมการ Protocol เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่ก็นะ เหตุการณ์ไม่คาดฝันมันก็เกิดขึ้นได้ มันทำให้ตอนนั้นถึงแม้ว่าเราจะง่วงจะเหนื่อยมันก็จะ Stay Alert 🚨 ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งงาน 2 วันก็อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ก็ต้องขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทุกคนที่ทำให้งานในปีนั้นเกิดขึ้นมาได้

ปี 3 : ฮ่ะ !! อะไรนะ ?

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า งานที่จัดตอนอยู่ปี 2 เนี่ยมันเวียนครบมาบรรจบปีเว้นปี ที่เคยจัดมาก่อนพอดีมันเลยได้จัด ซึ่งหลังจบงานเมื่อปีก่อนเราเองก็ได้รับมอบหมายหน้าที่อันสำคัญที่จะขึ้นมาดูแลฝ่าย Project ในฐานะปี 4 เพราะ ณ ตอนนั้นพี่ ๆ ก็จบไปหมดแล้ว แล้วเราก็เป็นพี่โตสุดก็รับหน้าที่ต่อไป

แต่ !!! จู่ ๆ ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่า งาน Open House จะจัดทุกปี ไม่เอาแล้วปีเว้นปี... เอาแล้วไง !! ตอนนั้นก็แอบ งง ว่าทำไมจู่ ๆ มาเปลี่ยน แต่ก็ช่างเถอะ หลังจากเรื่อง Confirm แล้วว่ามีแน่ ก็เลยทำให้ในปีนั้นในทีมก็จะมี พี่แม๊กซ์ที่ตอนนั้นอยู่ปี 4 เราที่เป็นปี 3 ที่อยู่ปี 2 เมื่อปีก่อน และอ.ยุ้ย คนเดิมเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าโชคชะตาหรืออะไรก็ตาม ทำให้พี่แม๊กซ์ที่ควรจะมาดูแลฝ่ายเป็นหลักก็อัพเลเวลเป็น ประธานของงาน ทันที

งามไส้แล้วไง !! เพราะถ้าพี่แม๊กซ์หายไป ทำให้ทายาทอสูรลำดับต่อไปคือเรา ! และสมาชิกฝ่ายก็เหลือเราและ อ.ยุ้ย อยู่ 2 คน ทำให้เราเลยได้มาเป็นเฮดฝ่ายนี้ในตอนที่อยู่ปี 3 เท่านั้น (ปกติเฮดฝ่ายจะเป็นปี 4) ตอนนั้นพี่ก็บอกว่า ปีที่แล้วที่สัญญากันที่จะขึ้นมาเป็นเฮดในรอบงานต่อไป (ที่ตอนนั้นเราควรจะต้องอยู่ปี 4 ไม่ใช่ปี 3) เราไม่ต้องมาเป็นก็ได้นะ แต่ตอนนั้นก็คิดว่าไหน ๆ ก็สัญญาแล้วก็ลองสักดอกจะเป็นไรไป ก็เลยตัดสินใจรับตำแหน่งซะเลย

3rd Year Stuff /wo Dear

และจากที่คนเหลือกัน 2 คนกับจำนวนงานที่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย เลยทำให้สมาชิกนั่นคือเราและอาจารย์ 2 คนต้องออกตามหาทายาทอสูรคนต่อไปจากน้องปี 2 ณ ตอนนั้น รอบแรกเนี่ยก็ไปสัมภาษณ์แล้วได้สมาชิกมาอีก 1 คนเป็นน้องจี่มิม จิมมี่ ~

3rd Year Stuff
ซ้ายสุดไปขวาสุด : เรา, น้องเดียร์, อ.ยุ้ย, พี่แม๊กซ์และน้องจิมมี่ ประชุมยามดึก

แต่เพราะเหตุการณ์บางอย่าง และอนาคตที่ไม่แน่ไม่นอน เมื่อเราจบไปแล้ว แล้วถ้ามันเหลือจิมมี่คนเดียวก็คงไม่ได้แน่ ๆ เราจะต้องหาคนมาซับแล้ว สุดท้ายก็ไปหาเหยื่อแล้วมาสัมภาษณ์อีกก็ได้น้อง เดียร์ มา

อย่างที่เราเล่าไปเมื่อก่อนหน้านี้ว่า ตอนเราเข้ามาใหม่ ๆ เราก็ถูกสอนอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อให้เราทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ~ ตอนนี้มันก็ถึงเวลาบ้างแล้ว เมื่อเราอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ชั้นปีที่สูงขึ้น ความรับผิดชอบจึงมากขึ้น เหมือนยิ่งสูงยิ่งหนาว 🤒 จากที่ปีก่อนเราทำงาน แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ไปจากพี่ ๆ ตัดสินใจบ้างในบางเรื่อง ตอนนี้เรากลายมาเป็นพี่ ๆ ซะแล้ว

เคยไปฟังใครมาสักคนในสักที่จำไม่ได้เหมือนกันว่า ผู้ใหญ่กับเด็กต่างกันยังไง เขาบอกว่า จริง ๆ แล้วเด็กกับผู้ใหญ่นั้นแทบไม่ต่างกันเลย ต่างคนก็ต่างมีสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก สิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ลองนึกดูว่าตอนเราเป็นเด็ก เวลาเราอยากรู้อะไรสักอย่าง เราก็คงเดินไปถามผู้ใหญ่ว่า นี่มันคืออะไร ? หรือ มีปัญหาเดินไป นี่มันแก้ยังไงนะครับ ? โดยเราที่เป็นเด็กก็คงคาดหวังว่า ผู้ใหญ่ที่เขาว่าผ่านน้ำร้อนมาก่อนก็จะให้คำตอบและวิธีแก้ปัญหากับเราได้

แต่พอเรามาลองอยู่ในจุดที่สูงขึ้นอย่างผู้ใหญ่ เราก็ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อยู่ แค่มันอาจจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปคือ เราไม่มีผู้ใหญ่เหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็กให้ถามแล้ว (ถึงแม้ความจริง ก็จะมีผู้ใหญ่ที่มีวัยวุฒิ และคุณวุฒิมากกว่าเราอยู่ก็เถอะ) และความคาดหวังของเด็กที่มาถามต่อผู้ใหญ่ก็สูงเหลือเกิน

กลับมาที่เรื่องงาน ด้วยความที่เราก็เป็นเฮดฝ่ายตอนนั้น ก็คล้าย ๆ กับเป็นเหมือนผู้ใหญ่ กับน้อง ๆ ก็เป็นเด็ก ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ก็น่าจะคาดหวังคำตอบและการตัดสินใจของเรา (ไม่รู้ว่าพวกมันคาดหวังมั้ย ถถถถ) เหมือนที่เราเคยคาดหวังจากพี่ ๆ ในงานเมื่อปีก่อน และแน่นอนว่า การที่เราเอาน้องเขามาทำงาน เราก็มีความหวังว่าเขาจะสานต่องานของเราเมื่อเราจบไป ทำให้เราก็ไม่ได้เอาน้องมาแค่ทำงาน แต่เราจะต้องทำให้น้องสามารถอยู่ต่อไปได้แม้จะไม่มีเราอยู่ เหมือนกับที่พี่พยายามสอนหลาย ๆ อย่างกับเราเมื่อปีก่อน

จากเรื่องของความคาดหวังนั้นทำให้เราเองนี่แหละที่เครียดซะเอง เอาตรง ๆ ตอนนั้นเราก็เป็นแค่เด็กปี 3 คนนึงที่พึ่งผ่านประสบการณ์การจัดกิจกรรมมาแค่งานเมื่อปีก่อนงานเดียว โดยที่เราไม่เคยขึ้นมา Lead เพราะเป็นพี่ ๆ ซะส่วนใหญ่ มันก็ กลัว อยู่ซึ่งตอนนี้เราก็มองว่า มันคงเป็นเรื่องปกติของคำว่า “ครั้งแรก” แต่ตอนนั้นก็แค่กลัวเลยเอาจริง ๆ ไม่กล้าแม้กระทั่งจะตัดสินใจอะไรด้วยซ้ำ

ทำให้กลับมานั่งคิดว่า จริง ๆ แล้วความกลัวคืออะไร ก็ใช้เวลาอยู่นานนะกว่าจะได้คำตอบที่ถูกใจ ตอนนั้นเรานิยามมันว่า มันเป็นบันไดขั้นใหญ่ที่ถ้าเราข้ามไปไม่ได้ เราก็จะไปไหนไม่ได้ คำตอบนี้มันเลยทำให้เรา เกิดแรงฮึดบางอย่างที่จะพยายามก้าวผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ ฟิลลิ่งเหมือนตอนเราเล่นเกม เราก็อยากจะเป็นที่ 1 ใน Server อะไรแบบนั้น แต่กว่ามันจะผ่านไปได้ เส้นทางของมันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอยู่แล้ว ตอนนั้นก็เครียด เครียดจนนอนหลับไม่สนิท ตื่นมากลางดึกลุกขึ้นมานั่งโง่อยู่หน้าหน้าต่าง เราเรียกกิจกรรมนั้นว่า ชมจันทร์ 🌝 มันเลยส่งผลไปถึงเรื่อง Productivity ด้วยเพราะเรานอนไม่เต็มอิ่ม ก็ส่งผลต่อไปที่ สติ ที่อาจจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัวซะเท่าไหร่

ถ้าจำไม่ผิดเหมือนช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ทำ Imagine Cup อยู่ด้วย (ไว้จะมาเล่าในโอกาสถัด ๆ ไป) ทำให้งานมันก็จะมีทั้งเรื่องเรียน, Open House และ Imagine Cup รวมกัน งานเพิ่ม เวลาเท่าเดิม ความเจ้มจ้นมันก็มากขึ้น ความเครียดจากที่เครียดอยู่แล้วมันก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก ตอนนั้นก็บอกเลยว่า ในจิตนี่จะล้มแล้วละ

ตอนนั้น อ.ยุ้ย ก็เข้ามาเตือนสติในหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้น กับพี่ ๆ ก็ช่วยเราในการจัดการทั้งตัวเอง และเวลา เพื่อให้เราสามารถเอางานทั้งหมดมาสุมรวมกันได้ในตารางงาน ทำให้เราสามารถจัดการงานได้ดีขึ้นความเครียดลดลง

การเตรียมงานก็ดำเนินไป น้อง ๆ เราและอาจารย์ก็ทำงานกันไป น้อง ๆ ที่เข้ามาทำงานก็มีการพัฒนาที่ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เราเองที่ควรจะเป็นคนสอนน้อง ก็กลายเป็นว่าบางครั้งน้อง ๆ ก็สอนอะไรเราเหมือนกัน ต่างคนต่างสอน และให้แง่คิดแก่กันละกัน มันทำให้เราก็โตไปพร้อม ๆ กันนั่นละ

MUICT Open House 2016 Project all stuffs

แต่ !!! งานเข้าเมื่อผลการแข่ง InnoServe ออก แล้ววันที่ต้องไปแข่งมันดันเป็นวันเดียวกับที่จัดงาน Open House พอดี งามไส้แล้วไง !! สุดท้าย เรา, อาจารย์และบางส่วนของทีม Meraki ก็โบกมือลาบินไปไทเปในวันงานจริง โดยปล่อยให้จิมมี่และเดียร์อยู่กัน 2 คนในฝ่าย !~ อย่าโกรธเราน้าา ถถถถ และเมื่อเรากลับมา งานก็จบไปได้ด้วยดี เป้ง !!!

ปี 4 : พี่โตสุด

มาในปีนี้ เรารู้ละว่างานมันจะจัดเป็นประจำทุกปีละ ทำให้เราวางแผนแล้วว่าช่วงเทอมแรกใน Schedule เราจะต้องมี Open House อยู่ในนั้นแน่นอน ไม่ได้แหลกกตรูหรอก ฮึฮึ

4th Year Stuff
ซ้ายไปขวา : น้องเดียร์, น้องมิตจัง, ฉัน, อ.ยุ้ย, น้องทอย และ น้องจิมมี่

จุดที่ต่างจากปีก่อนอีกจุดคือ สมาชิกฝ่ายเราก็เป็นคนเดิม เพราะปีก่อนเราเป็นเฮด ซึ่งตอนนั้นอยู่ปี 3 ทำให้ในปีนี้เราอยู่ปี 4 และน้องทั้ง 2 จากปี 2 ก็ขยับขึ้นมาเป็นปี 3 อาจารย์ก็ยังเป็นอาจารย์อยู่ คนก็ไม่หายไปไหน และด้วยความที่เราอยากได้คนเพิ่ม เราก็ไปได้น้องใหม่มาเป็นปี 3 เหมือนกับ 2 คนที่เหลือคือ มิตจัง และ ทอย ผู้ที่เงียบที่สุดในสามโลก

มาในปีนี้ก็เหมือนเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ตอนนี้เราก็โตแล้วและได้ทำงานงานเป็นปีสุดท้ายแล้วก็เลยอยากที่จะทำมันให้เต็มที่ที่สุด แต่ก็ดีที่ตอนนี้เราก็อยู่ปี 4 ทำให้การทำงานง่ายขึ้นเยอะ เพราะเราก็อยู่ปีเดียวกับเฮดฝ่ายอื่น จากปีที่แล้วที่บางทีที่พี่ว่าง เราจะไม่ว่างเพราะ ปี 4 ลงจำนวนวิชาน้อยกว่าปี 3 อะไรทำนองนั้น แต่มาในปีนี้ปัญหานั้นมันก็หายไป

ด้วยความที่เรารู้อยู่แล้วว่า งานในฝ่ายเรามันมีจำนวนมาก และต้องใช้เวลา ทำให้เรามักจะเริ่มงานก่อนฝ่ายอื่น ๆ เวลาไปคุยรวมกัน มันก็จะง่ายไปหมด เพราะเรามีตารางโน้นนี่นั่นไว้หมดแล้ว มันก็ทำให้เราวางแผนได้ง่ายขึ้นมาก

การเตรียมงานก็ดำเนินไป มีปัญหาพีค ๆ บ้าง ราบรื่นบ้างก็ตามแก้กันไป จนมาถึงวันงานที่ก็เป็นปีที่รู้สึกเหมือนกับว่ามันราบลื่นที่สุดเท่าที่เคยทำมาเลย ปัญหามีแต่สุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้ ประทับใจตอนเก็บของมาก เพราะทุกคนช่วยกัน ทำให้เราใช้เวลาไม่นานในการเก็บของหมดแบบหมดจริง ๆ จากปกติที่ต้องใช้เวลานานกว่านี้หลาย ๆ เท่าเลย

มาทำงานนี้เราได้อะไร

Me @ muict open house 2017

หลาย ๆ คนก็ถามนะว่า เหนื่อยกันขนาดนี้เพื่ออะไร ก็คงตอบว่าไม่ได้อะไรที่เป็นรูปธรรมเช่นเงินอะไร แต่สิ่งที่เราได้มันอยู่ในรูปนามธรรมซะมากกว่า เพราะเราได้เจอน้อง เพื่อน พี่ ที่เราอาจจะไม่ได้รู้จักมาก่อน ได้มาทำงานด้วยกัน ผ่านร้อนผ่านหนาวไปด้วยกัน มันก็ทำให้เราสนิทกันมากขึ้น มากกว่านั้นเราก็ได้รู้จักการทำงานกับคนอื่น ความเป็นผู้นำ และในขณะเดียวกันอีกสกิลที่สำคัญคือ การเป็นผู้ตาม บอกเลยว่าถ้าไม่มีงานนี้อาจจะไม่เป็นเราแบบในทุกวันนี้ก็ได้ อีกอย่างเราก็มีความสุขนะเวลาเราเห็นเด็ก ๆ ที่กลับไปรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วเดินไปในทางที่ชอบ

อีกอย่างนึงคือ ถ้าไม่มีงานนี้ เราก็คงไม่ได้มาร่วมงานกับทีม Meraki จนประสบความสำเร็จและรางวัลมากขนาดนี้แน่นอน แน่นอนว่าตรงนั้นมันก็เป็นเหมือนบันไดอีกขั้นของชีวิตเราที่ต้องผ่านมันไป

ขอบคุณ

ท้ายที่สุดนี้ เราก็คงต้องขอบคุณ อ.ยุ้ย พี่วิน พี่แม๊กซ์ น้องจิมมี่ น้องเดียร์ น้องเดียร์ น้องมิตจัง และ น้องทอย รวมถึง พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่คอยช่วยสอน ช่วยงาน ช่วยเตือนสติเวลาเราล้ม รู้สึกว่าการทำงานนี้มันมากกว่าการทำงาน เราว่ามันคือ มิตรภาพ โอกาส ที่ทำให้เราเติบโตไปพร้อม ๆ กัน เพราะการเป็นทีมมันไม่ได้แปลว่า เราจะทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลัง แต่เราค่อย ๆ จูงมือกันไป ขอบคุณทุกคนมากครับ ก็จะเก็บประสบการณ์ที่ได้จากทั้ง 3 ปีไปใช้ต่อในอนาคตฮ่ะ ~ 👍

สำหรับคนที่อ่านมาจนะถึงตรงนี้คุณเก่งมาก จำนวนบรรทัดที่คุณได้อ่านมานั้นเลยค่าเฉลี่ย 8 บรรทัดของคนไทยมาไกลแล้ว คุณเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มจำนวนค่าเฉลี่ยให้กับคนไทย ถถถถ ล้อเล่นนะ จากเรื่องที่เล่ามาเราจะเห็นกันว่า โลกแห่งความจริงนั้นมันไม่ได้สวยงามเหมือนที่เราคิดไว้ แต่มันมักจะมีอุปสรรค์มากั้นเราเสมอ แต่อุปสรรค์นั้นแหละ มันจะทำให้เราโตขึ้น และก้าวผ่านอุปสรรค์ที่ใหญ่กว่า ยาวกว่า ในอนาคตได้ สวัสดีครับ ~

Read Next...

Year in Review 2022 สวัสดี 2023

Year in Review 2022 สวัสดี 2023

เวลาผ่านไปไวเหมือนกันนะเนี่ย ยังแอบรู้สึกว่าเหมือนยังไม่ผ่านครึ่งปีไปดีเลย อ่อ สิ้นปีแล้วเฉยเลย มา งั้นเรามาเล่าให้อ่านกันดีกว่าว่า ที่ผ่านมาในปี 2022 มันเกิดอะไรขึ้น และมันสอนอะไรเราบ้าง...

Year in Review 2021 สวัสดี 2022

Year in Review 2021 สวัสดี 2022

ผ่านไปอีกปีแล้วกับปี 2021 ที่น่าจะเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับใครหลาย ๆ คน เราเองก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ หลาย ๆ อย่างที่ Plan ไว้ก็ต้องเปลี่ยนหมด หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ก็หวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีขึ้นเนอะ ~...

Year in Review 2020 สวัสดี 2021

Year in Review 2020 สวัสดี 2021

และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมาเขียน Year in Review อีกครั้ง ประโยคที่ว่า จะหมดปี 2020 แล้วคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้ละมั่ง ปีก่อน ๆ อาจจะบอกว่า เออ ใช่แหละ แต่ปีนี้คือเป็นปีที่หนักมากสำหรับหลาย ๆ คนรวมถึงเราด้วย...

Productive Series: To-Do List ทำดี มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเยอะ

Productive Series: To-Do List ทำดี มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเยอะ

หลังจากตอนที่แล้ว เราพูดถึงเรื่องของการจัดการไฟล์ใน Digital ของเราไปแล้ว วันนี้เราลองมาเปลี่ยนไปดูอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และ ช่วยทำให้ชีวิตเรามีเวลาออกไปหายใจได้มากขึ้น อย่างการทำ To-Do List กันดีกว่า...